วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มคณะราษฏรในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งคณะราษฏรได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สำเร็จ และคณะราษฏรก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระราชกำหนดนิรโทษกรรมครั้งนี้ โดยความเป็นจริงแล้ว ถ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงใช้พระราชอำนาจที่มีอยู่ในการสั่งปราบปรามคณะราษฏรในข้อหากบฏก็คงจะทรงทำได้ เพราะทหารในส่วนหัวเมืองที่ยังจงรักภักดีกับพระองค์ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เนื่องจากพระองค์เองทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับปวงชนชาวไทยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอภิรัฐมนตรีสภาทัดทานอยู่ พระองค์จึงต้องรอโอกาสอันสมควร แต่เมื่อคณะราษฏรได้ชิงลงมือก่อการปฏิวัติก่อนก็สอดคล้องกับพระราชดำริ
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีประเด็นที่น่าศึกษาดังนี้
1.จุดมุ่งหมายและอุดมการณ์ของคณะราษฏร คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นประชาธิปไตย โดยยึดถืออุดมการณ์ 6 ประการ คือ
จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย
จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ
จะบำรุงความสุขสบายสมบูรณ์ของราษฏรในทางเศรษฐกิจ
จะต้องให้ราษฏรมีสิทธิเสมอกัน
จะต้องให้ราษฏรมีเสรีภาพ โดยไม่ขัดกับหลัก 4 ประการข้างต้น
จะต้องให้การศึกษาแก่ราษฏรอย่างเต็มที่
2. สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกจากประเทศตะวันตก กลายเป็นผู้นำสมัยใหม่ และรับแนวคิดแบบประชาธิปไตยมาเป็นแบบอย่างในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
จิตสำนึกของคนรุ่นใหม่และอิทธิพลของสื่อมวลชนที่มีลักษณะก้าวหน้าในสมัยนั้น ในช่วง เวลาก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดแบบประชาธิปไตยได้มีความตื่นตัว และอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งบรรดาสื่อมวลชนต่างๆ ก็พากันแสดงความคิดเห็น และเสนอข้อเขียนสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแพร่หลาย
ฐานะทางการคลังของประเทศและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 7การคลังของประเทศเริ่มตกต่ำลงในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศเกิดตกต่ำลง ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงพยายามตัดทอนรายจ่ายทุกประเภทให้เหลือเท่าที่จำเป็น มีการปรับปรุงระบบภาษีให้รัดกุม เพื่อจะได้เก็บภาษีให้มากขึ้น และใช้วิธีการปลดข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก เพื่อลดรายจ่ายของรัฐบาลให้น้อยลง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจทั่วโลกก็กำลังตกต่ำลง จึงส่งผลกระทบต่อประเทศไทยจนรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้บรรลุผลได้ จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏรใน พ.ศ.2475
3. องค์ประกอบคณะราษฏร ประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนจำนวน 99 คน โดยมีบุคคลสำคัญดังนี้
พ.อ.พระยาพลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฏร
พ.อ.พระยาทรงสุรเดช
พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์
พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ
พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม
พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก
น.ต.หลวงสิทธุ์สงครามชัย
น.ต.หลวงศุภชลาศัย
หลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงศ์) หัวหน้าฝ่ายพลเรือน
นายจรูญ สืบแสง
นายควง อภัยวงศ์
4. การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามและการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
คณะราษฏรได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ได้ร่างเตรียมไว้ขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และพระองค์ได้ทรงพระราชทานกลับคืนมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้เปิดสภาผู้แทนราษฏรเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว"
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว กำหนดไว้ว่า อำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ประกอบด้วยอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ซึ่งแต่เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์ได้เปลี่ยนมาเป็นของปวงชนชาวไทยตามหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงตำแหน่งบริหารที่สำคัญคือ ประธานคณะกรรมการคณะราษฏร คือ นายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่ประสานความเข้าใจระหว่างคณะราฏษรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อความราบรื่นในการบริหารประเทศ ซึ่ง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นผู้ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฏรให้เป็นประธานคณะกรรมการคณะราษฏร
5.การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว สภาผู้แทนราษฏรได้แต่งตั้งอนุกรรมการคณะหนึ่ง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรสำหรับเป็นหลักการปกครองประเทศต่อไป ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยมี
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี ทางด้านคณะราษฏรได้ส่งบุคคลระดับหัวหน้าฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนเข้าร่วมรัฐบาล โดยมี พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้คุมเสียงข้างมากอยู่ในคณะรัฐมนตรี ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้จึงเรียกได้ว่าเป็น "รัฐบาลของคณะราษฏร"ซึ่งเป็นสมาคมการเมืองเดียวในขณะนั้น

การเมืองช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง-สงครามโลกครั้งที่ 2

มีเหตุการณ์สำคัญและน่าสนใจในช่วงนี้มีดังต่อไปนี้
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอำนาจใหม่(คณะราษฏร) และความขัดแย้งภายในกลุ่มใหม่
ภายหลัง
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฏรประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากราษฏรเป็นผู้เลือก และสมาชิกที่มาจากพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง นับเป็นครั้งแรกที่ได้เปิดโอกาสให้ราษฏรไทยได้มีสิทธิเลือกผู้แทนของตนไปทำหน้าที่นิติบัญญัติและควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล
พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ.2475 ไปได้เพียง 2-3 เดือนก็ได้เกิดความขัดแย้งในหมู่คณรัฐมนตรี และคณะราษฏรด้วยเรื่อง การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ความขัดแย้งถึงขั้นรุนแรงจนนำไปสู่การประกาศพระราชกฤษฏีกาปิดสภาผู้แทนราษฏร
หลังจากปิดสภาผู้แทนราษฏรได้ประมาณ 2 เดือน
พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา หลังจากนั้นพันเอกพระยาพหลฯ ได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยพันเอกพระยาพหลฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาลชุดนี้จึงเป็นคณะรัฐบาลที่ประกอบด้วยบุคคลสำคัญของคณะราษฏร ซึ่งเป็นกลุ่มยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นเอง
การบริหารประเทศภายใต้การนำของพระยาพหลฯ ไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มนายทหารรุ่นเก่า กลุ่มขุนนางและกลุ่มเชื้อพระวงศ์บางท่านซึ่งสูญเสียอำนาจจากการปฏิวัติ พ.ศ.2475 โดยกล่าวหาว่าพระยาพหลฯ มีแผนการจะนำเอาลัทธิสังคมนิยมมาในใช้ในประเทศไทยซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
รัฐบาลของพระยาพหลฯ ปฏิเสธที่จะเจรจากับฝ่ายกบฏ โดยอ้างว่ารัฐบาลทำถูกต้องแล้วและได้รวบรวมกำลังทหารจากกรุงฌทพฯเข้าปราบกบฏ ฝ่ายรัฐบาลมีกำลังและความพร้อมเหนือกว่าฝ่ายกบฏ สามารถรุกเข้าโจมตีฝ่ายกบฏ เกิดการสู่รบกันอย่างรุนแรงบริเวณดอนเมือง หลังจากสู้กันได้เพียง 3 วัน ฝ่ายกบฏแตกพ่ายต้องถอยกลับภาคอีสาน หัวหน้ากบฏ คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดชต้องเสด็จหนีลี้ภัยไปอยู่ที่อินโดจีน
หลังจากรัฐบาลปราบปรามกบฏได้สำเร็จแล้ว จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฏรขึ้นเป็นครั้งแรก ในปลายปี พ.ศ.2476 โดยมีจำนวน 78 คน รัฐบาลพระยาพหลฯ บริหารประเทศในลักษณะรวบอำนาจ มีการปราบปรามผู้ที่คัดค้านรัฐบาลถึงกับประกาศพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อปราบปรามยุคคลที่ต่อค้านรัฐบาล นอกจากนั้นรัฐบาลยังไม่ยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น ดังนั้นรัฐบาลจึงเป็นพรรคการเมือง คณะราษฏรพรรคเดียวโดยไม่มีฝ่ายค้าน
การสละราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อรักษาพระเนตรได้ทรงมีพระราชบันทึกถึงรัฐบาล ทรงขอร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและให้สิทธิเสรีภาพแก่ราษฏรอย่างแท้จริง ไม่ปราบปรามและลงโทษผู้คัดค้านด้วยสุจริตใจ
เมื่อรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามคำขอของพระองค์ได้ พระองค์จึงทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม 2477 ทรงอ้างเหตุผลแห่งการสละราชสมบัติว่า เป็นเพราะพระองค์ไม่สามารถช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชนให้ได้รับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้
เพราะหลังจากนั้นรัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมบัติสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา
ความขัดแย้งในคณะราษฏร
รัฐบาลพระยาพหลฯบริหารประเทศในลักษณะที่ไม่ค่อยราบรื่น เนื่องจากถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรโจมตีในเรื่องความไม่สุจริต และเกิดความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ในที่สุดพระยาพหลฯ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บุคคลที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อมาคือ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม เมื่อเดือน ธันวาคม 2481
รัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามมีศัตรูทางการเมืองอยู่มาก จึงดำเนินนโยบายสร้างความมั่นคงของรัฐบาลโดยการกวาดล้างจับกุมกลุ่มที่ต่อต้าน ซึ่งมีทั้งนายทหารที่เคยร่วมก่อการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์บางท่าน รัฐบาลถึงกับประกาศพระราชบัญญัติศาลพิเศษเพื่อตัดสินลงโทษผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง บางคนถึงกับถูกประหารชีวิต บางคนก็ถูกจำคุก
การปลุกความคิดชาตินิยมและความพยายามสร้างชาติไทยให้ยิ่งใหญ่
ประเทศมหาอำนาจในขณะนั้นได้แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยซึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ กลุ่มนี้มีอาณานิคมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ได้แก่ ประเทศเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น กลุ่มนี้มีอาณานิคมน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก และยังถูกกลุ่มแรกขัดขวางกีดกันผลประโยชน์ทางการค้าไปทั่วโลก ทั้ง 2 กลุ่มจึงต่อสู้แข่งขันกัน โดยเฉพาะในเรื่องกำลังอาวุธ ทำให้สถานการณ์โลกเริ่มตึงเครียด กลุ่มที่ 2 เน้นนโยบายของชาติในเรื่องชาตินิยม มีการปลุกใจให้ประชาชนรักชาติอย่างรุนแรง ให้เชื่อมั่นในลัทธิทหารนิยม ปลุกใจประชาชนให้เกิดฮึกเหิมพร้อมที่จะทำสงคราม พร้อมทั้งชักชวนประเทศเล็กๆ ให้เสื่อมใสในหลักการของตน
การปลุกความคิดชาตินิยม
รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้ดำเนินนโยบายในลักษณะเผด็จการอยู่แล้ว จึงเอนเอียงไปทางกลุ่มที่ 2 ประกอบกับขณะนั้น ขบวนการกู้ชาติในประเทศต่างๆ ในทวีปเอเซียจึงเอนเอียงไปทางกลุ่มที่ 2 เป็นเวลาเดียวกับที่ขบวนการกู้ชาติในประเทศต่างๆในทวีปเอเซียปลุกเร้าประชาชนของตนให้ลุกขึ้นขับไล่มหาอำนาจตะวันตกที่เข้ามายึดครองเอเซียและให้คืนเอกราชให้แก่ประเทศของตน ญี่ปุ่นเห็นเป็นโอกาสในการโฆษณาลัทธิชาตินิยมจึงยุยงชาวเอเซียให้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการขับไล่ชาวผิวขาวให้ออกไปจากเอเซีย โดยมีคำขวัญว่า "เอเซียเพื่อเอเซีย"
พันเอกหลวงพิบูลสงครามซึ่งเป็นผู้ที่มีความคิดชาตินิยมอยู่แล้ว จึงดำเนินนโยบายสร้างชาติไทยให้เข็มแข็ง ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลของพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้ประกาศนโยบายอย่างชัดแจ้งที่จะสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่ด้วยวิธีการหลายๆ รูปแบบ ดังเช่น ก. ส่งเสริมการทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ผลิตเครื่องใช้ด้วยตนเอง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้และไม่ลืมอาชีพดั้งเดิมของตน ไม่ต้องหวังพึ่พาอาศัยสินค้าจากต่างชาติ ข. ชักจูงโฆษณาให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ เพื่อที่เงินตราของชาติจะได้ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ เศรษฐกิจของชาติก็จะมั่นคง รัฐบาลประกาศคำขวัญไปทั่วประเทศว่า "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" ค. ส่งเสริมให้คนไทยประกอบอาชีพค้าขายและสงวนอาชีพบางอย่าง ห้ามคนต่างด้าวทำ เพื่อให้คนไทยเป็นผู้ประกอบอาชีพแต่ฝ่ายเดียว สาเหตุเนื่องจากว่าในขณะนั้นคนต่างด้าวทั้งชาวยุโรป ชาวจีน และชาวอินเดียได้เข้ามาประกอบธุรกิจค้าขายจนร่ำรวย ในขณะเดียวกันชาวไทยต้องทำงานหนักในท้องไร่ท้องนามีฐานะยากจน รัฐบาลกลัวว่าพวกต่างด้าวจะเข้ามาควบคุมเศรษฐกิจของประเทศ จึงออกกฏหมายห้ามขาวต่างชาติทำอาชีพบางอย่าง เช่น อาชีพตัดผม เผาถ่าน เป็นต้น ง. โฆษณาชักจูงให้ประชาชนละทิ้งนิสัย ความประพฤติ และวัฒนธรรมแบบโบราณซึ่งชาวตะวันตกมองว่าเป็นสิ่งที่ล้าหลัง และให้คนไทยดำรงชีวิตตามแบบอย่างชาวตะวันตก เพื่อให้ชาวไทยเชิดหน้าชูตาเสมอชาวตะวันตก รัฐบาลจึงใช้วิธีประกาศห้ามคนไทยกินหมาก สตรีต้องไว้ผมยาวและสวมหมวกเมื่อออกจากบ้าน เลิกโจงกระเบน ให้สวมกระโปรงหรือนุ่งผ้าถึงแทน ชายไทยต้องแต่งชุดสากลและสวมหมวกตามแบบตะวันตก ปรับปรุงการเขียนภาษาไทยเสียใหม่ให้กะทัดรัด ฯลฯ จ. แต่งเพลงปลุกใจชาวไทยให้รักชาติมากมายหลายเพลงและให้สถานีวิทยุทุกแห่งเปิดเพลงเหล่านี้บ่อยๆ ทุกวัน ฉ.ตั้งกรมโฆษณาการ เพื่อทำหน้าที่ปลุกใจประชาชน โฆษณาถึงความรักชาติให้เชื่อฟังผู้นำ โดยมีคำขวัญว่า "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" จะเห็นได้ว่า กรมโฆษณานี้นอกเหนือจากทำหน้าที่ปลุกใจประชาชนให้รักชาติแล้ว ยังชักจูงประชาชนให้เชื่อมั่นในตัวผู้นำและแนวนโยบายเผด็จการอีกด้วย
สงครามกับฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสได้ยึดดินแดนไทยไปมากมายโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้งยังข่มเหงเอารัดเอาเปรียบคนไทยต่างๆ นานา ชาวไทยส่วนใหญ่ยังมีความเจ็บช้ำใจในเรื่องนี้อย่างไม่ลืม รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจึงพยายามโฆษณาตอกย้ำในสิ่งที่ฝรั่งเศสทำไว้อยู่ตลอดเวลา
ใน พ.ศ.2483 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นในยุโรป รัฐบาลไทยได้ประกาศนโยบายเป็นกลาง กองทัพเยอรมันรักเข้าโจมตีฝรั่งเศสอย่างรวดเร็ว ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ และประกาศยอมแพ้ต่อเยอรมันในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2483
รัฐบาลฝรั่งเศสที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายหลังจากการแพ้สงคราม หวั่นเกรงว่าไทยอาจใช้กำลังเข้ายึดดินแดนบางส่วนของอินโดจีน จึงขอเจรจากับไทยเพื่อทำสัญญาไม่รุกรานกัน รัฐบาลไทยยินดีเจรจา แต่ขอให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนบางส่วนของประเทศลาวในปัจจุบัน ซึ่งฝรั่งเศสยึดไปจากไทยกลับคืนให้ไทยเสียก่อน ฝรั่งเศสไม่ยอมตกลง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเริ่มเสื่อมทุกที ฝ่ายไทยกล่าวหาฝรั่งเศสว่าส่งเครื่องบินและกำลังทหารล่วงล้ำเขตแดนไทยและยั่วยุให้ไทยทำสงคราม ในขณะเดียวกันประชาชนไทย นิสิต นักศึกษาในกรุงเทพได้เดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลส่งทหารไปยึดดินแดนไทยกลับคืนมาจากฝรั่งเศส
ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.2484 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศสถานการณ์สงครามกับอินโดจีนของฝรั่งเศส และส่งกำลังทหารไทยรุกเข้าสู่อินโดจีน ยึดเมืองหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ และอื่นๆ อีกหลายแห่ง
รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอตัวเข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส รัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสยอมรับการไกล่เกลี่ย ในที่สุดทั้งสองฝ่ายได้ยุติสงครามกันในปลายเดือนกันยายน และเปิดประชุมเจรจากันที่กรุงโตเกียว นอกจากนั้นรัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเสียสละชีวิตเพื่อชาติของทหารไทยในสงครามอินโดจีนอีกด้วย


การเมืองการปกครองช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุการณ์ที่สำคัญและน่าสนใจในช่วงนี้มีดังต่อไปนี้
การประกาศสถานการณ์ความเป็นกลางของไทยในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นมายุโรปในปี พ.ศ.2482 รัฐบาลไทยได้ประกาศยืนยันนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ในขณะนั้นญี่ปุ่นได้วางแผนการที่จะเข้าสู่สงครามโลก โดยใช้กำลังทหารของตนเข้าขับไล่ประเทศตะวันตกทั้งหมดออกจากทวีปเอเซีย เมื่อฝรั่งเศส อังกฤษ ประสบความเพลี่ยงพล่ำในยุโรป ญี่ปุ่นก็เปิดฉากโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐ ที่อ่าวเพิร์ล ตอนเช้ามืดของวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2484 หรือตรงกับเช้ามืดของวันที่ 8 ธันวาคม ตามเวลาในประเทศไทยฐานทัพเรือของสหรัฐฯ ที่อ่าวเพิร์ลถูกทิ้งระเบิดเสียหายย่อยยับ พร้อมกันนั้นกองทัพญี่ปุ่นก็ยกพลขึ้นบกในดินแดนหลายแห่งในทวีปเอเซียรวมทั้งประเทศไทยด้วย
สำหรับประเทศไทย กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกบริเวณริ่มฝั่งทะเลไทยด้านตะวันออกไปจนถึงภาคใต้ ได้แก่ บางปู ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี รวมทั้งกองทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนก็ได้รุกเข้าสู่จังหวัดพระตะบอง และจังหวัดพิบูลสงครามของไทยอีกด้วย
ในเกือบทุกแห่ง ทหาร ตำรวจ และยุวชนไทยได้เข้าต่อสู้ขัดขวางการรุกรานของญี่ปุ่นอย่างกล้าหาญสุดความสามารถ ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ไทยยุติการต่อต้านและยินยอมให้ญี่ปุ่นยกทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีมลายูและพม่า โดยญี่ปุ่นสัญญาว่าจะเคารพเอกราชและอธิปไตยของไทย รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) เห็นว่า หากไทยยังสู้รบกับญี่ปุ่นต่อไป ประเทศไทยก็จะพินาศเพราะกำลังทหารและอาวุธของไทยไม่อาจต่อต้านญี่ปุ่นได้เลย ดังนั้นรัฐบาลจึงตกลงรับข้อเสนอของญี่ปุ่นและยุติการต่อต้านภายหลังจากที่ได้สู้รบกันนานประมาณ 4-5 ชั่วโมง
การประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร
หลังจากที่ไทยยอมให้ญี่ปุ่นยกทัพผ่านประเทศไทยไปโจมตีประเทศเพื่อนบ้านนั้น ญี่ปุ่นพยายามเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไทย พยายามที่จะบงการและบีบคั้นรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามที่ญี่ปุ่นต้องการ ในขณะเดียวกันฝ่ายพันธมิตรก็ได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์ในกรุงเทพและหัวเมืองสำคัญ ทหารไทยจำเป็นต้องยิงต่อสู้กับเครื่องบินฝ่ายพันธมิตร ในที่สุดรัฐบาลก็ได้ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นผู้นำ เมื่อเดือน มกราคม พ.ศ.2485
นายปรีดี พนมยงศ์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้หนึ่งในจำนวน 3 ท่าน ไม่เห็นด้วยกับการประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรในครั้งนี้ จึงมิได้ลงนามในคำประกาศสงคราม คงมีแต่ผู้สำเร็จราชการอีก 2 ท่านเท่านั้นที่ได้ลงนาม
หลังจากนั้น ประเทศไทยก็ได้ตกอยู่ในสถานการณ์สงครามกับฝ่ายพันธมิตร และร่วมรบกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว ญี่ปุ่นได้เอาใจไทยโดยกดินแดนที่ญี่ปุ่นตีมาได้กลับคืนไทย เพราะเคยเป็นดินแดนของไทยมาก่อน เช่น รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส (ปัจจุบันอยู่ในปรเทศมาเลเซีย) เมืองเซียงตุง เมืองพาน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า) ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็พยายามที่จะควบคุมรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติไปตามที่ญี่ปุ่นต้องการ โดยเฉพาะในเรื่องผลประโยชน์ทางการเงิน การค้า และวัตถุดิบซึ่งญี่ปุ่นได้รับจากไทย
ขบวนการเสรีไทย
นายปรีดี พนมยงศ์ มีความเชื่อว่า ในสุดท้ายแล้วญี่ปุ่นต้องแพ้สงคราม หากไทยยังร่วมหัวจมท้ายกับญี่ปุ่น ไทยก็จะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อาจถึงขั้นพันธมิตรเข้ายึดครองประเทศไทยได้ ดังนั้น นายปรีดี พนมยงศ์ จึงจัดตั้งขบวนการเสรีไทย ใช้รหัสย่อว่าX.O.Group รวบรวมคนไทย ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นใด อาชีพใด ทั้งที่พำนักอยู่ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งมีอุดมการณ์ตรงกัน คือ ความมุ่งหมายในการขับไล่ญี่ปุ่นให้ออกไปจากผืนแผ่นดินไทย โดยมีนายปรีดี พนมยงศ์เป็นหัวหน้าใหญ่ ในขณะเดียวกันท่านก็ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่ด้วย นับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่ญี่ปุ่นไม่รู้เลยว่า นายปรีดี พนมยงศ์ คือหัวหน้าใหญ่ของขบวนการเสรีไทย ต่อมาชายไทยทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพที่มีใจรักชาติต่างก็สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของขบวนการเสรีไทย ซึ่งได้ขยายงานไปสู่ต่างจังหวัด บรรดาคนหนุ่มๆ ได้รับการฝึกในการใช้อาวุธและยุทธวิธีการสู้รบตามป่าตามเขา สหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้สนับสนุนขบวนการเสรีไทยอย่างลับๆ โดยจัดส่งอาวุธยุทธปัจจัยต่างๆ ตลอดจนครูฝึกทหารมาฝึกเสรีไทย จำนวนสมาชิกของขบวนการเสรีไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับขีดความสามารถในการรบ
ทางด้านเสรีไทยนอกประเทศ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชฑูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ประกาศไม่ยอมรับรู้และคัดค้านความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และการที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับพันธมิตรนั้นเป็นเพราะญี่ปุ่นบีบบังคับ ประชาชนชาวไทยไม่เห็นด้วย โชคดีที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเข้าใจไทยในเรื่องนี้ พร้อมทั้งสนับสนุนขบวนการเสรีไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เสรีไทยที่มีชื่อเสียงท่านนี้คือ นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ขึ้นเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรร่วมกับเสรีไทยนอกประเทศอีกหลายคนเข้าสู่ดินแดนไทยเพื่อร่วมมือกับเสรีไทยในประเทศ
สำหรับการบริหารประเทศของรัฐบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากรัฐบาลประสบกับปัญหาที่ญี่ปุ่นพยายามบีบบังคับให้รัฐบาลยินยอมมอบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ญี่ปุ่นแล้ว รัฐบาลยังประสบปัญหาในเรื่องที่รัฐบาลประกาศพระราชกำหนดย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เพชรบูรณ์ และพระราชกำหนดสร้างพุทธบุรีมณฑล พ.ศ.2487 เพื่อจัดสร้างศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่สระบุรี ปรากฏว่า สภาผู้แทนราษฏรไม่เห็นชอบกับพระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับ รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามหรือจอมพลแปลก พิบูลสงคราม จึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง และนายควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
ต่อมาในปี พ.ศ.2488 กำลังกองทัพของญี่ปุ่นร่อยหรอและอ่อนเปลี้ยพ่ายแพ้แก่ฝ่ายพันธมิตรทุกแนวรบ ในขณะนั้นกองกำลังเสรีไทยนับแสนคนพร้อมที่จะลงมือขับไล่กองทหารญี่ปุ่นให้ออกจากผืนแผ่นดินไทยแล้ว แต่บังเอิญสหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณู 2 ลูก ลงสู่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2488 ยังผลทำให้ประชาชนญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มตายจำนวนมหาศาล ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้ต่อสหรัฐอเมริกา สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยุติลง โดยที่เสรีไทยไม่ได้ลงมือขับไล่ญี่ปุ่นก็ยอมแพ้เสียก่อน


การเมืองการปกครองช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2- พ.ศ.2500

เหตุการณ์ที่สำคัญและน่าสนใจในช่วงนี้มีดังต่อไปนี้
การแก้ปัญหาเนื่องจากไทยอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม
สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยตกอยู่ในฐานะที่น่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามกับฝายสัมพันธมิตรในระหว่างสงคราม ซึ่งอาจจะทำให้ตกอยู่ในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามก็ได้ ดังนั้นนโยบายของไทยที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือ ทำอย่างไรจึงจะรอดพ้นจากฐานะผู้แพ้สงคราม
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของไทยประกาศสันติภาพโดยถือว่าการประกาศสงครามของไทยต่อพันธมิตรในระหว่างสงครามนั้นเป็นโมฆะ และไทยพร้อมที่จะคืนดินแดนทีได้มาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส หลังจากนั้น นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีก็ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่ฝ่ายพันธมิตรไว้วางใจเข้ารับตำแหน่งแทน นั่นก็คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าเสรีไทยนอกประเทศที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยอมรับ
ในเดือนกันยายน 2488 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี งานหลักของรัฐบาลชุดนี้ก็คือ การเจรจากับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่อความเป็นเอกราชของชาติ โชคดีที่สหรัฐและอังกฤษไม่ติดใจไทยหรือคิดจะลงโทษอันเนื่องจากการที่เราประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ่รัฐบาลไทยก็ได้ประกาศคืนดินแดนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส พร้อมทั้งให้ความร่วมมืออื่นๆ หลายประการ นอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังได้ประกาศบริจาคข้าวสารจำนวน 1.5 ล้านตัน ให้แก่อังกฤษ เพื่ออังกฤษจะได้นำไปช่วยเหลือประชาชนที่อดอยากตามประเทศต่างๆ ในที่สุดปัญหาที่น่าวิตกของไทยเราก็ค่อยๆ ผ่านพ้นไปด้วยดี ไทยเราสามารถดำรงเอกราชไว้ได้ในขณะที่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองและปกครองประเทศไปตามนโยบายของสหรัฐอเมริกา การที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่คิดลงโทษ ก็เนื่องมาจากคุณงามความดีของขบวนการเสรีไทยนั้นเอง
ในเดือนมกราคม 2488 รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏรกันใหม่ นับตั้งแต่นั้นมาการเมืองของไทยก็เริ่มเข้ารูปเข้ารอยตามระบอบรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะรูปแบบเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับก่อนๆ อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมืองต่างๆ ได้ ดังนั้นพรรคการเมืองรุ่นแรกๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นในขณะนั้นได้แก่ พรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ (นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า) พรรคกสิกร พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคก้าวหน้า พรรคประชาชน ฯลฯ พรรคต่างๆ ที่กล่าวนามมานี้มีอยู่พรรคเดียวที่ยังดำเนินงานทางการเมืองจนถึงปัจจุบัน คือ พรรคประชาธิปปัตย์
นายควง อภัยวงศ์ (พ.ต.ควง อภัยวงศ์) เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช คือ แต่ดำรงตำแหน่งได้ไม่กี่เดือนก็ต้องลาออก เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะเงินเฟ้ออย่างร้ายแรงอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2
การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และผลกระทบ
ในเดือนมีนาคม 2489 นายปรีดี พยมยงศ์ ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่นายปรีดี เข้าบริหารงานของประเทศได้ไม่ทันไรก็เกิดปัญหาร้ายแรงของประเทศ กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เนื่องจากต้องอาวุธปืน รัฐบาลนายปรีดี ซึ่งได้ขอความเห็นชอบต่อสภาฯ ในการกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป
ปัญหาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องอาวุธปืนนั้น รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ดำเนินการสอบสวนแต่ก็ไม่สามารถสรุปถึงสาเหตุของปัญหานั้นได้ เมื่อรัฐบาลไม่สามารถอธิบายสาเหตุที่แท้จริงได้ ประกอบกับประชาชนและพรรคฝ่ายค้านต่างก็พากันตำหนิรัฐบาลอย่างรุนแรง นายปรีดี พนมยงค์ จึงแสดงความรับผิดขอบโดยการกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เข้าดำรงตำแหน่งแทน เมื่อเดือน สิงหาคม 2489
การแย่งชิงอำนาจระหว่างนักการเมือง และระหว่างทหารบกกับทหารเรือ
การเมืองไทยเริ่มประสบความยุ่งยากอันเนื่องมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัญหาเศรษฐกิจของชาติเสื่อมโทรมมาอย่างต่อเนื่อง เกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง เครื่องอุปโภคบริโภคขาดแคลนอย่างรุนแรง โจรผู้ร้ายชุกชุม รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนั้นรัฐบาลยังถูกตำหนิติเตียนในเรื่องพฤติกรรมฉ้อราษฏร์บังหลวง พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ถือโอกาสเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอย่างรุนแรง
ในที่สุดฝ่ายพลเรือนซึ่งมีพลโทผิน ชุณหะวัน เป็นหัวหน้า จึงได้ก่อการรัฐประหารเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้มอบอำนาจให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลนายควงได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ในเดือน มกราคม 2491 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก นายควง อภัยวงศ์จึงเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นาน กลุ่มรัฐประหารชุดเดิมได้บังคับให้นายควง ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน เมษายน 2491 จากนั้นจอมพลแปลก พิบูลสงครามก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สรุปได้ว่า การเมืองไทยภายใต้การบริหารงานของนักการเมืองหลังสงครามโลกประสบกับปัญหามากมาย โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในหมู่นักการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการฉ้อราษฏรบังหลวง เมื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ฝ่ายทหารก็ฉวยโอกาสโดยอ้างความล้มเหลวเข้ายึดอำนาจ และในที่สุดนับจากนั้นมาการเมืองไทยก็ตกอยู่ใต้อำนาจของทหาร
ความขัดแย้งทางการเมือง (ช่วง 2491-2500) เมื่อจอมพลแปลก พิบูลสงครามได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในปี 2491 ภายหลังจากที่ได้บีบให้นายควง ลาออกจากตำแหน่งแล้ว ความยุ่งยากทางการเมืองก็ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง นำไปสู่การกบฏของกลุ่มบุคคลที่ไม่พอใจรัฐบาล มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายและตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ปัญหาดังกล่าวทำให้ความหวังของการพัฒนาทางด้านการเมืองการปกครองไทยเพื่อก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร แทนที่รัฐบาลจะได้ทุ่มเทความสามารถเพื่อพัฒนาประเทศ กลับใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อรักษาอำนาจของตน ความยุ่งยากทางการเมืองไทยระหว่าง ช่วง 2491-2500 สรุปเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดังนี้
การแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายจอมพลแปลก พิบูลสงคราม กับฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ซึ่งมีอดีตสมาชิกขบวนการเสรีไทยให้การสนับสนุน รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงครามเกรงว่าฝ่ายนายปรีดีจะหาโอกาสล้มอำนาจของตน จึงมีการจับกุมบุคคลสำคัญๆ ของพรรคสหชีพซึ่งมีนายปรีดี เคยเป็นหัวหน้าพรรคนี้ บางคนก็ถูกยิงตาย นักการเมืองจำนวนมากถูกจับเข้าคุก บางส่วนต้องหนีไปต่างประเทศ (รวมทั้งนายปรีดี) หรือไม่ก็หลบหนีเข้าป่า
เกิดกบฏขึ้นหลายครั้งเพื่อต่อต้านรัฐบาลของจอมพลแปลก เช่นกบฏวังหลวง เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 มีการปะทะกันบริเวณพระบรมมหาราชวังอย่างรุนแรง ผลปรากฏว่าฝ่ายกบฏเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ นอกจากนี้ก็มีกบฏแมนฮัตตัน เกิดขึ้นเมื่อ 2494 โดยกลุ่มนายทหารกลุ่มหนึ่งบุกเข้าจับกุมจอมพลแปลก ในขณะเป็นประธานพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ แมนฮัตตัน ซึ่งรัฐบาลอเมริกันเป็นผู้มอบให้ กลุ่มกบฏได้นำจอมพลแปลกไปขังไว้ในเรือรบชื่อศรีอยุธยา เพื่อต่อรองกับรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลไม่ฟังเสียงและลงมือปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยส่งเครื่องบินเข้าทิ้งระเบิดเรือศรีอยุธยาจนจมลง แต่จอมพลแปลกว่ายน้ำหนีเข้าฝั่งได้ กลุ่มกบฏไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือส่วนใหญ่ ในไม่ช้าก็ถูกรัฐบาลปราบจนราบคาบ หลังจากการปราบกบฏรัฐบาลได้ใช้นโยบายตัดทอนกำลังและอาวุธของกองทัพเรือ จนทำให้กองทัพเรือลดกำลังและความสามารถลงไปเป็นอันมาก แต่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อสิ้นสมัยจอมพลแปลกไปแล้ว
มีการแก้ไขปรับปรุงและประกาศใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่สาระของรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มุ่งรักษาอำนาจของคณะรัฐประหารหรือผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองมิได้มุ่งเพื่อสร้างสรรค์ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
การใช้กำลังตำรวจเพื่อรักษาอำนาจของตนไว้อย่างมั่นคง โดยการเสริมสร้างกรมตำรวจทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เช่นเดียวกับทหาร และเพิ่มกำลังพลจนเทียบเท่ากองพล นอกจากนั้นยังใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ทำให้ประชาชนในสมัยนั้นหวาดกลัวตำรวจไปทั่วบ้านทั่วเมือง
บุคคลใดที่คัดค้านรัฐบาลมักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีการไต่สวนฟ้องร้อง
ผู้นำประเทศพยายามสร้างดุลอำนาจระหว่างกรมตำรวจกับกองทัพบกเพื่อรักษาอำนาจของตน ดังเช่นจอมพลแปลก นายกรัฐมนตรี สนับสนุนให้ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ สร้างกรมตำรวจจนเป็นกองทัพที่ใหญ่โนเพื่อรักษาอำนาจดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนกลุ่มนายทหารภายใต้การนำของ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์(ยศในขณะนั้น) ไว้คอยถ่วงดุลอำนาจกับกรมตำรวจ
การก้าวขึ้นสู้อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
การรัฐประหาร พ.ศ.2500 สาเหตุก็เนื่องมาจากว่ากลุ่มของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ กับกลุ่มของ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ต่อมาคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ขัดแย้งกันเรื่อยมาด้วยเรื่องการเมืองและเรื่องของผลประโยชน์หลายเรื่อง ความขัดแย้งได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จอมพลแปลกได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2500 รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ผลปรากฏว่าพรรคเสรีมนังคศิลา ซึ่งเป็นของฝ่ายรับบาลได้โกงการเลือกตั้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ประชาชน นิสิต นักศึกษาในกรุงเทพฯ จำนวนมากมายซึ่งไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ได้พากันเดินขบวนประท้วงและขับไล่รัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ออกมาพบประชาชนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และให้ความหวังแก่ประชาชนในทางที่ดี ฝูงชนจึงสลายตัวไป จอมพลสฤษดิ์ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นตั้งแต่นั้นมา
ในที่สุดฝ่ายทหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้ยื่นคำขาดต่อ จอมพลแปลก นายกรัฐมนตรี ให้แก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองโดยด่วน เมื่อไม่ได้ผลฝ่ายทหารจึงถอนตัวออกจากการสนับสนุนรัฐบาล ในไม่ช้าจอมพลสฤษดิ์ ก็ได้เป็นผู้นำทำการรัฐประหาร ในปี พ.ศ.2500 นั้นเอง จอมพลแปลกต้องพลบหนีออกนอกประเทศ และพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ก็ถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ออกนอกประเทศ
หลังจากทำการรัฐประหารได้สำเร็จ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และมอบให้นายพจน์ สารสินเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ต่อมารัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งกันอีกครั้งหนึ่ง การเลือกตั้งในครั้งนี้มีพรรคสหภูมิซึ่งเป็นพรรคที่จอมพลสฤษดิ์ สนับสนุนได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยผลของการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคสหภูมิได้รับการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก รองลงไปคือ พรรคประชาธิปัตย์
พลโทถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทนนายพจน์ สารสิน การบริหารประเทศของรัฐบาลพลโทถนอม ประสบปัญหายุ่งยาก และวุ่นวาย เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรฝ่ายรัฐบาลเรียกร้องผลประโยชน์และตำแหน่งต่างๆ ในทางการเมือง นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตฉ้อราษฏร์บังหลวงอีกด้วย ปัญหาความวุ่นวายเพิ่มขึ้นจน พลโทถนอม ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ได้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพลโทถนอม เข้าร่วมด้วย เมื่อยึดอำนาจได้สำเร็จแล้ว จอมพลสฤษดิ์ก็ประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติ และร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ครั้งนี้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะรัฐบาลบริหารประเทศจนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506


การเมืองการปกครองไทยช่วง พ.ศ.2501-ปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่สำคัญและน่าสนใจในช่วงนี้สรุปได้ดังนี้
การปกครองแบบเผด็จการแต่มุ่งพัฒนาประเทศของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501-2506) การปกครองของไทยไม่มีรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีแต่รัฐธรรมนูญการปกครองกำหนดขอบเขตการบริหารประเทศอย่างกว้างๆ ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนทำหน้าที่นิติบัญญัติหรือคอยควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ได้รวบอำนาจการปกครองทั้งหมดมาไว้ที่ตนคนเดียว จอมพลสฤษดิ์จึงสามารถสั่งการใดๆ ออกกฏหมายใดๆ รวมไปถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญการปกครอง สั่งประหารชีวิตหรือจำคุกผู้ต้องสงสัยบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านการฟ้องร้องต่อศาล
จอมพลสฤษดิ์มีความตั้งใจที่จะบริหารประเทศให้เกิดความสงบสุขและความเจริญก้าวหน้าจึงใช้อำนาจเด็ดขาดดำเนินการแก้ไขปัญหาของประเทศจนได้รับความสำเร็จหลายประการ เช่น ปราบปรามอันธพาลที่ก่อกวนทำลายความสงบสุขของประชาชน ปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด แต่ก็มีผลเสียคือ ผู้บริสุทธิ์หลายคนซึ่งคัดค้านวิธีการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ต้องถูกจำคุกโดยไม่มีการไต่สวนความผิด แต่ถูกตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์หรือข้อหาอันธพาล บางส่วนก็หลบหนีเข้าป่าเพื่อซ่องสุมกำลังต่อต้านรัฐบาลต่อไป
ทางด้านการพัฒนาประเทศ จอมพลสฤษดิ์มุ่งพัฒนาทางด้านสาธารณูปโภคเป็นการใหญ่ เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง การชลประทาน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม จัดตั้งมหาวิทยาลัยและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น
แม้ว่าประเทศไทยในช่วงนี้จะมีความสงบสุขและพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้านก็ตาม แต่ประชาชนก็หมดสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มีการควบคุมหนังสอืพิมพ์อย่างเด็ดขาด นักศึกษาจะจัดกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อรัฐบาลมิได้ มีการประกาศใช้กฏหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จอมพลสฤษดิ์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2506 พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรีได้เข้ารับตำแหน่งแทน ต่อมาในปี 2511 สภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย จึงได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี พ.ศ.2511ในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั่วประเทศ ภายหลังจากการว่างเว้นการเลือกตั้งมานานหลายปี
การเลือกตั้งในครั้งนี้ พรรคสหประชาไทยของรัฐบาลได้เสียงข้างมาก จอมพลถนอม กิตติขจร จึงเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากบริหารประเทศได้ไม่นานนัก ปัญหาต่างๆ ก็ได้ประดังเข้ามาสู่รัฐบาลจนแทบตั้งตัวไม่ติด เช่น ปัญหาที่สหรัฐอเมริกาใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพในการส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในอินโดจีน ปัญหาที่รัฐบาลร่วมมือ กับสหรัฐอเมริกาส่งทหารไปรบในลาวและเวียดนามโดยอ้างว่าเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์นอกประเทศ นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศอย่างรุนแรง ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประกาศสงครามกับรัฐบาล จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตามจังหวัดต่างๆ หลายแห่ง เป็นผลทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ แต่ยิ่งปราบปรามรุนแรงมากเท่าไหร่พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยิ่งขยายแนวร่วมมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในเวลาต่อมา
ทางด้านการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็ยังมีการเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ ก่อให้เกิดความแตกแยก และยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
การตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตยและบทบาทของขบวนการนิสิตนักศึกษาและปัญญาชน
ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายและเสื่อมความนิยมต่อรัฐบาลมากขึ้นตามลำดับ โดยกลุ่มปัญญาชน นิสิต นักศึกษา ต่างพากันไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ แทนที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีทางการเมือง แต่จอมพลถนอม กิตติขจร กลับหันไปใช้วิธีแบบเก่า คือ ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง ประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541 กลับไปใช้รูปแบบการปกครองแบบเผด็จการอีก
การก่อรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจรในครั้งนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มประชาชน นิสิต นักศึกษาที่รักประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยของประเทศต้องถอยหลังอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มปัญญาชนทั้งนิสิต นักศึกษาในกรุงเทพและต่างจังหวัดได้เริ่มรวมตัวกันเป็นองค์กรที่เข็มแข็ง โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการร่างรัฐธรรมนูญให้มีลักษณะประชาธิปไตยให้เสร็จอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จอย่างรวดเร็วได้ ความไม่พอใจรัฐบาลได้สูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญญาชนและนิสิต นักศึกษาบางกลุ่มได้แจกใบปลิวเรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้สั่งตำรวจจับกุมพวกที่แจกใบปลิว 13 คนและตั้งข้อหาก่อการกบฏ การกระทำของรัฐบาลในครั้งนี้ ประชาชน นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศต่างพากันคัดค้านรัฐบาลอย่างรุนแรง
ในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 คลื่นประชาชน นิสิต นักศึกษาจำนวนหลายแสนคน ได้เดินขบวนประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า รัฐบาลเริ่มหวั่นวิตกเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายจึงยอมปล่อยตัวกลุ่มที่แจกใบปลิว และให้คำมั่นว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว เหตุการณ์มีทีท่าว่าจะเรียบร้อยเพราะตกลงกันได้ แต่แล้วสถานการณ์กลับพลิกผันไปสู่ความเลวร้ายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเช้าในวันที่ 14 ตุลาคม ในขณะที่ประชาชนและนักศึกษาจะกลับบ้าน ภายหลังการสลายตัวจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาล เกิดปะทะกันกับตำรวจ เรื่องได้ลุกลามไปจนถึงขั้นมีการส่งทหารและรถถังเข้าระงับเหตุการณ์ เกิดการปะทะระหว่างทหารกับประชาชน นิสิต นักศึกษา ซึ่งมีไม้ ก้อนหิน และอาวุธปืนเล็กๆ เป็นอาวุธ ทหารได้ใช้อาวุธปืนสงครามและแก๊สน้ำตายิงเข้าใส่กลุ่มที่ก่อการจลาจล ทำให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก
เหตุการณ์ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงระงับเหตุการณ์โดยทรงขอร้องให้ทุกฝ่ายยุติการต่อสู้กัน เหตุการณ์จึงได้นำไปสู่ความสงบเรียบร้อยในวันรุ่งขึ้น โดยผู้นำรัฐบาลคือ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ได้เดินทางไปพำนักยังต่างประเทศ
ความตื่นตัวในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เมื่อเกิดเหตุการณ์ มหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ผ่านพ้นไปแล้ว รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และพยายามบริหารประเทศในลักษณะประคับประคองมิให้เกิดความแตกแยกเกิดขึ้นในชาติ ในขณะเดียวกันนิสิต นักศึกษา มีความตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยกันมาก มีการจัดกิจกรรมเผยแแพร่ประชาธิปไตยแก่ชาวชนบท เพื่อให้ชาวชนบทเข้าใจในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและรู้จักเลือกผู้แทนราษฏรที่ดีในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ประกาศใช้ในปี 2517 นับเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างสมบูรณ์และดีมากฉบับหนึ่ง หลังจากนั้นรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้จัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2518 ภายหลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากว่าทุกพรรค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคจึงได้จัดตั้งรัฐบาล แต่เมื่อแถลงนโยบายต่อสภา ปรากฏว่าไม่ได้รับความไว้วางใจ
ในที่สุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมีสมาชิกในสภาเพียง 18 เสียง ได้รวบรวมพรรคเล็กๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลจนสำเร็จ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่การบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ประสบอุปสรรคมากมายหลายประการ เป็นต้นว่า การประท้วงและเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มชาวนา กลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มกรรมกร ซึ่งใช้วิธีบีบรัฐบาลด้วยการนัดหยุดงาน นอกจากนั้นยังเกิดความขัดแย้งในคณะรัฐบาลอีกด้วย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชจึงแก้ปัญหาด้วยการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ.2519
ผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช์ จึงเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่การบริหารประเทศเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และเกิดปัญหากลุ่มพลังต่างๆ ประท้วงและบีบรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะกลุ่มนิสิต นักศึกษาซึ่งคัดค้านการเดินทางกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอมและจอมพลประภาส ในขณะนั้นได้มีการจัดตั้งกลุ่มพลังบางกลุ่มเพื่อต่อต้านนิสิต นักศึกษา มีการปลุกระดมโฆษณาว่านักศึกษาเป็นพวกคอมมิวนิสต์
ความขัดแย้งระหว่างขบวนการเผด็จการกับขบวนการประชาธิปไตย
เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความร้ายแรงและเป็นเหตุให้คนไทยต้องฆ่าฟันกันเอง ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในขณะที่นิสิต นักศึกษาและประชาชนต่างชุมนุมคัดค้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม และจอมพลประภาส ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่นั้น ได้มีผู้สั่งการไม่ทราบว่าเป็นใครให้ตรำวจและประชาชนผู้ถืออาวุธกลุ่มหนึ่งบุกเข้าโจมตีและฆ่าฟันผู้ที่อยู่ในที่ชุมนุมจนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันกลุ่มที่มีแนวความคิดต่อค้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 18.00 น. พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ร่วมด้วยผู้นำทุกเหล่าทัพได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยเรียกคณะผู้ก่อการว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
หลังจากนั้น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินนโยบายเข้มงวด ควบคุมความคิดเสรีนิยม เกิดปัญหาขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการนำรูปแบบเผด็จการมาใช้อีก ทำให้นักศึกษา ปัญญาชนถูกกดดันจึงหนีเข้าป่าไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มีความเข็มแข็งขึ้น และได้เปิดฉากทำสงครามกองโจรกับรัฐบาลหลายแห่งทั่วประเทศ
ทางฝ่ายทหารวิเคราะห์ว่า หากปล่อยให้รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการบริหารประเทศต่อไปจะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ จึงได้ยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่งเมื่อ วันที่ 20 ตุลาคม 2520 เมื่อยึดอำนาจสำเร็จแล้ว พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นได้มีการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่อีก รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ในปี 2521 มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 เมษายน 2522 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2522 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ได้พยายามแก้ไขปัญหาความแตกแยกภายในชาติและปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยพยายามกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากขึ้น แต่รัฐบาลก็ประสบปัญหาเรื่องน้ำมันในตลาดโลกราคาสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยให้สูงตามไปด้วย ก่อให้กิดภาวะสินค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ จึงลาออกจากตำแหน่ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการหทหารบกได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง และฝ่ายทหาร ได้รับการเสนอชื่อต่อสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในเดือน มีนาคม 2523
การฟื้นฟูประชาธิปไตยและการแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์
รัฐบาลพลเอกเปรม ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายทหารและพรรคการเมืองต่างๆ จึงสามารถบริหารประเทศไปด้วยดี พลเอกเปรมดำเนินนโยบายให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่การปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลใช้นโยบาย "การเมืองนำหน้าการทหาร" กล่าวคื อเปลี่ยนแปลงนโยบายจากเดิมซึ่งมุ่งปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ด้วยกำลังทหารมาเป็นการมุ่งพัฒนาประชาชนในชนบทให้กินดีอยู่ดี ให้ความเป็นธรรมแก่ราษฏร เลิกใช้วิธีการที่เจ้าหน้าที่กดขี่ข่มเหงราษฏร ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราษฏรในชนบทหันไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ และโฆษณาชักจูงให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนาท้องถิ่น
ผลปรากฏว่านโยบายดังกล่าวประสบผลสำเร็จด้วยดี จำนวนผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ลดลง โดยออกมาเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ประกอบกับรัฐบาลดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยการสร้างความเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศจีน ทำให้มิตรประเทศเพื่อนบ้านลดการให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ไม่สามารถใช้กำลังก่อการร้ายได้อีกต่อไป
แม้ว่าการเมืองและเศรษฐกิจของไทยในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรมเป็นไปด้วยดีและก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น 2 ครั้ง คือ การก่อกบฏของกลุ่มนายทหารยังเตอร์กเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 และการก่อกบฏของกลุ่มนายทหารนอกราชการ ในวันที่ 9 กันยายน 2528 กบฏทั้งสองนี้ได้ถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบ
พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 8 ปี ตั้งแต่ปี 2523-2531 และตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยได้เจริญก้าวหน้า นายทุนจากต่างประเทศหันมาสนใจลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้เงินตราจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย ภายหลังการเลือกตั้งปี 2531 แล้ว พลเอกเปรม ได้ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยจึงได้ดำรงตำแหน่งแทน
ในช่วงสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย (2531-2534) เศรษฐกิจไทยยังคงรุ่งเรืองต่อจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่รัฐบาลก็ถูกตำหนิติเตียนในเรื่องที่รัฐมนตรีบางคนมีพฤติกรรมฉ้อราษฏร์บังหลวง และรัฐบาลยังมีปัญหาขัดแย้งกับฝ่ายทหารอีกด้วย
การรัฐประหารของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติและการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีความขัดแย้งระหว่างทหารกับรัฐบาล อันนำไปสู่การรัฐประหาร โดยคณะนายทหารระดับสูงจากทุกเหล่าทัพ โดยมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์เป็นหัวหน้าได้ประกาศยึดอำนาจในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ทั้งนี้โดยอ้างเหตุผลว่ารัฐบาลปล่อยให้มีการฉ้อราษฏร์บังหลวง คณะรัฐประหารได้เรียกคณะของตนว่า "สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)" และได้มอบหมายให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวบริหารงานต่อไป
นอกจากนี้สภา รสช.ได้จัดตั้งสภานิติบัญญัติและร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ การร่างรัฐธรรมนูญได้แล้วเสร็จในปลายปี พ.ศ.2534 อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนเป็นอย่างมาก
ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2535 ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคที่ได้รับเสียงข้างมากได้เป็นแกนกลางในการจัดตั้งรัฐบาล และได้มอบหมายให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นและเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในสภา รสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้แก่นิสิต นักศึกษา และประชาชนเป็นอย่างมาก ทำให้มีการเดินขบวนประท้วงคัดค้าน อันนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงในระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 ซึ่งนับว่าเป็นวันมหาวิปโยคของชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง
เหตุการณ์ในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงขอร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งและหันหน้ามาเจรจากันอย่างสันติ ในที่สุดเหตุการณ์ก็ได้สงบลง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระองค์ท่าน
หลังจากนั้น พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฏรได้เสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และต่อมาได้มีการประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน 2535 ผลของการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมากกว่าทุกพรรค จึงได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาลนายชวน ได้บริหารประเทศมาได้ 2 ปี เกิดกรณีการจัดสรรที่ทำกินให้แก่ราษฏร และการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ต้องประกาศยุบสภา และได้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กรกฏาคม 2538 ปรากฏว่านายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อบริหารประเทศได้ระยะหนึ่งก็ต้องประสบกับปัญหาการขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล และการลาออกของคณะรัฐมนตรีจึงได้ประกาศยุบสภา และได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 ผลการเลือกตั้งพรรคความหวังใหม่ได้คะแนนเสียงข้างมาก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคจึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่การบริหารประเทศของพลเอกชวลิต ได้ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ส่งผลให้นายชวน หลีกภัยผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 - ปัจจุบัน หลังจากที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างท่วมท้น เมื่อ
วันที่ 16 มกราคม 2544

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น