วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

บทบาทพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อการพัฒนาชาติไทย



การเมือง

สภาพทางการเมืองในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงรูปแบบของระบบประชาธิปไตยอันเป็นระบบการปกครองที่สืบทอดมาช้านาน การเปลี่ยนแปลงภายในตัวระบบอยู่ที่การปรับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันสูงสุดที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ รูปแบบของสถาบ้นกษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คลายความเป็นเทวราชาลงเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็กลับเน้นคติและรูปแบบของธรรมราชาขึ้นแทนที่ อย่างไรก็ตาม อำนาจอันล้นพ้นของพระมหากษัตริย์ก็มีอยู่แต่ในทางทฤษฎี เพราะในทางปฏิบัติ พระราชอำนาจของพระองค์กลับถูกจำกัดลงด้วยคติธรรมในการปกครอง ซึ่งอิงหลักธรรมของพุทธศาสนา คือ ทศพิธราชธรรม กับอีกประการหนึ่ง คือ การถูกแบ่งพระราชอำนาจตามการจัดระเบียบควบคุมในระบบไพร่ ซึ่งถือกันว่า พระมหากษัตริย์คือมูลนายสูงสุดที่อยู่เหนือมูลนายทั้งปวง แต่ในทางปฏิบัติพระองค์ก็มิอาจจะควบคุมดูแลไพร่พลเป็นจำนวนมากได้ทั่วถึง จึงต้องแบ่งพระราชอำนาจในการบังคับบัญชากำลังคนให้กับมูลนายในระดับรองๆ ลงมา ในลักษณะเช่นนั้น มูลนายที่ได้รับมอบหมายให้กำกับไพร่และบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระ กรรณ จึงเป็นกลุ่มอำนาจมีอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มใดจะมีอำนาจเหนือกลุ่มใดก็แล้วแต่สภาพแวดล้อมของสังคมในขณะนั้น เป็นสำคัญ
การปกครอง

การปกครองและการบริหารประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวได้ว่า รูปแบบของการปกครอง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ยังคงยึดตามแบบฉบับที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงวางระเบียบไว้ จะมีการเปลี่ยนแปลงก็เพียงเล็กน้อย เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดฯ ให้คืนเขตการปกครองในหัวเมืองภาคใต้กลับให้สมุหกลาโหมตามเดิม ส่วนสมุหนายกให้ปกครองหัวเมืองทางเหนือ ส่วนพระคลังดูแลหัวเมืองชายทะเล ในด้านระบบการบริหาร ก็ยังคงมีอัครมหาเสนาบดี ๒ ฝ่าย คือ สมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ และสมุหกลาโหม เป็นหัวหน้าราชการฝ่ายทหาร ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ตำแหน่งรองลงมาคือ เสนาบดีจตุสดมภ์ แบ่งตามชื่อกรมที่มีอยู่คือ เวียง วัง คลังและ นา ในบรรดาเสนาทั้ง ๔ กรมนี้ เสนาบดีกรมคลังจะมีบทบาทและภาระหน้าที่มากที่สุด คือนอกจากจะบริหารการคลังของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลตะวันออก เสนาบดีทั้งหลายมีอำนาจสั่งการภายในเขตความรับผิดชอบของตน รูปแบบที่ถือปฏิบัติก็คือ ส่งคำสั่งและรับรายงานจากเมืองในสังกัดของตน ถ้ามีเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น เสนาบดีเจ้าสังกัดจะเป็นแม่ทัพออกไปจัดการเรื่องต่างๆ ให้เรียบร้อย มีศาลของตัวเองและสิทธิในการเก็บภาษีอากรในดินแดนสังกัดของตน รวมทั้งดูแลการลักเลขทะเบียนกำลังคนในสังกัดด้วย
การบริหารในระดับต่ำลงมา อาศัยรูปแบบการปกครองคนในระบบไพร่ คือ แบ่งฝ่ายงานออกเป็นกรมกองต่างๆ แต่ละกรมกอง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการควบคุมกำลังคนในสังกัดของตน โครงสร้างของแต่ละกรม ประกอบด้วยขุนนางข้าราชการอย่างน้อย ๓ ตำแหน่ง คือ เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี กรมมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก กรมใหญ่มักเป็นกรมสำคัญ เจ้ากรมมีบรรดาศักดิ์ถึงขนาดเจ้าพระยาหรือพระยา
กรมของเจ้านายที่มีความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ กรมของพระมหาอุปราช ซึ่งเรียกกันว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมของพระองค์มีไพร่พลขึ้นสังกัดมาก กรมของเจ้านายมิได้ทำหน้าที่บริหารราชการโดยตรง ถือเป็นกรมที่ควบคุมกำลังคนเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น การแต่งตั้งเจ้านายขึ้นทรงกรมจึงเป็นการให้ทั้งความสำคัญ เกียรติยศ และความมั่นคงเพราะไพร่พลในครอบครองเป็นเครื่องหมายแสดงถึงอำนาจและความ มั่งคั่งของมูลนายผู้เป็นเจ้าของการบริหารราชการส่วนกลาง มีพระมหากษัตริย์เป็นมูลนายระดับสูงสุด เจ้านายกับขุนนางข้าราชการผู้บังคับบัญชากรมต่างๆ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฐานะเป็นมูลนายในระดับสูง ช่วยบริหารราชการ โดยมีนายหมวด นายกอง เป็นมูลนายระดับล่างอยู่ใต้บังคับบัญชา และทำหน้าที่ควบคุมไพร่อีกต่อหนึ่ง การสั่งราชการจะผ่านลำดับชั้นของมูลนายลงมาจนถึงไพร่
สำหรับการปกครองในส่วนภูมิภาคหรือการปกครองหัวเมือง ขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดี ๒ ท่าน และเสนาบดีคลัง ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น หัวเมืองแบ่งออกเป็นสองชั้นใหญ่ๆ ได้แก่ หัวเมืองชั้นในและหัวเมืองชั้นนอก การแบ่งหัวเมืองยังมีอีกวิธีหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ เอก โท ตรี จัตวา ตามความสำคัญทางยุทธศาสตร์และราษฎร
หัวเมืองชั้นใน เป็นหน่วยปกครองที่อยู่ใกล้เมืองหลวง มีเจ้าเมืองหรือผู้รั้ง ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าปกครองดูแล
หัวเมืองชั้นนอก มีทั้งหัวเมืองใหญ่ หัวเมืองรอง และหัวเมืองชายแดน หัวเมืองเหล่านี้ อยู่ใต้การปกครองของเจ้าเมือง และข้าราชการในเมืองนั้นๆ
นโยบายที่ใช้ในการปกครองหัวเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความกระชับยิ่งขึ้น กล่าวคือ รัชกาลที่ ๑ ได้ทรงออกพระราชกำหนดตัดทอนอำนาจเจ้าเมืองในการแต่งตั้งข้าราชการที่สำคัญๆ ทุกตำแหน่ง โดยโอนอำนาจการแต่งตั้งจากกรมเมืองในเมืองหลวง นับเป็นการขยายอำนาจของส่วนกลาง โดยอาศัยการสร้างความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นกับเจ้านายทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งเจ้าเมือง และข้าราชการที่แต่งตั้งตนในส่วนกลาง ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้ต้องรายงานตัวต่อผู้ตั้งทุกปี ทั้งนี้เพื่อผลในการควบคุมไพร่พลและเกณฑ์ไพร่มาใช้ เพราะฉะนั้น มูลนายในเมืองหลวงจึงได้ควบคุมสัสดีต่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด
ส่วนการปกครองในประเทศราช เช่น ลาว เขมร มลายู นั้น ไทยใช้วิธีปกครองโดยทางอ้อม ส่วนใหญ่จะปลูกฝังความนิยมไทยลงในความรู้สึกของเจ้านายเมืองขึ้น โดยการนำเจ้านายจากประเทศราชมาอบรมเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมของพระ มหากษัตริย์ในราชสำนักไทยหรือสนับสนุนให้มีการแต่งงานกันระหว่างเจ้านายทั้ง สองฝ่าย และภายหลังก็ส่งเจ้านายพระองค์นั้นไปปกครองเมืองประเทศราช ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันกันขึ้นระหว่างกษัตริย์ไทยกับเจ้านายเมืองขึ้น การปกครอง หรือการขยายอำนาจอิทธิพลในอาณาจักรต่างๆ เหล่านี้ ฝ่ายไทยและประเทศราชไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ขึ้นกับอำนาจความมั่นคงของราชอาณาจักรไทย เพราะฉะนั้น ในช่วงใดที่ประเทศอ่อนแอ เมืองขึ้นก็อาจแข็งเมืองหรือหันไปหาแหล่งอำนาจใหม่ เพราะฉะนั้น เมื่ออำนาจตะวันออกแผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนเอเซียอาคเนย์ ปัญหาเรื่องอิทธิพลในเขตแดนต่างๆ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเวลาทำความตกลงกัน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอย่างขนานใหญ่ ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป การปฏิรูปเศรษฐกิจ ก็ได้แก่ การปรับปรุงระบบบริหารงานคลังและภาษีอากร ส่วนการปฏิรูปสังคมก็ได้แก่ การเลิกทาส การปฏิรูปการศึกษา รวมทั้งการปรับปรุงการสื่อสาร และการคมนาคม เป็นต้น
สำหรับมูลเหตุสำคัญที่ผลักดันให้มีการปฏิรูปการปกครอง มีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑.มูลเหตุภายใน ทรง พิจารณาเห็นว่าการปกครองแบบเดิมไม่เหมาะสมกับสภาพทางการปกครองและทางสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ประเทศไทยมีประชากรเพิ่มขึ้น การคมนมคมและการติดต่อสื่อสารเริ่มมีความทันสมัยมากขึ้น การปกครองแบบเดิมจะมีผลทำให้ประเทศชาติขาดเอกภาพในการปกครอง ขาดประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินและพัฒนาได้ยาก
๒.มูลเหตุภายนอก ทรง พิจารณาเห็นว่า หากไม่ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินย่อมจะเป็นอันตรายต่อเอกราชของชาติ เพราะขณะนั้น จักวรรดินิยมตะวันตก ได้เข้ามาแสวงหาอาณานิคมในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้น แต่เดิมเราต้องยินยอมให้ประเทศตะวันตกหลายประเทศมีสิทธิภาพนอกอาณาเขตคือ สามารถตั้งศาลกงสุลขึ้นมาพิจารณาความคนในบังคับของตนได้ โดยไม่ต้องอยู่ใต้การบังคับของศาลไทย เพราะอ้างว่า ศาลไทยล้าสมัย
พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ

สภาพทางเศรษฐกิจสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงยึดแบบแผนที่ปฏิบัติมา ตั้งแต่สมัยอยุธยาและสมัยกรุงธนบุรีเป็นหลัก ซึ่งพอจะประมวลองค์ประกอบทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้ 3 ประการคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้า ที่มาของรายได้แผ่นดินและรายได้ประชาชาติ ระบบเงินตรา
1. หน่วยงานที่เกี่ยวกับการค้าและเศรษฐกิจ
1.1 พระคลังสินค้า เป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับการค้าขาย ทำหน้าที่ควบคุมสินค้าขาเข้าและขาออก ตลอดจนการเลือกซื้อสินค้าที่ทางราชการต้องการ หรือสินค้าผูกขาด (สินค้าที่ทางราชการต้องการและคิดว่ามีอันตรายหากพ่อค้าจะทำการซื้อขายกัน โดยตรง) ได้แก่ อาวุธ กระสุนปืน และควบคุมกำหนดสินค้าต้องห้าม (คือสินค้าที่หายากและมีราคาแพง ราษฎรต้องนำมาขายให้แก่ทางราชการ) ได้แก่ งาช้าง รังนก ฝาง กฤษณา พระคลังสินค้าเป็นหน่วยงานการค้าแบบผูกขาด จึงได้ผลกำไรมาก แต่เมื่อไทยมีการค้าขายกับต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก พ่อค้าเหล่านั้นไม่ได้รับความสะดวกภายหลังหน่วยงานนี้ถูกยกเลิกไปภายหลังการ ทำสนธิสัญญาเบาว์ริง
1.2 กรมท่า เป็นกรมที่ทำหน้าที่ติดต่อกับพ่อค้าต่างชาติ เพราะกรมนี้มีหน้าที่ปกครองหัวเมืองชายทะเล จึงเป็นกรมที่กว้างขวางและคุ้นเคยกับชาวต่างชาติ ปัจจุบันกรมนี้คือกระทรวงการต่างประเทศ
1.3 เจ้าภาษีนายอากร ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่ คือรัฐบาลจะเรียกเก็บภาษีอากรเฉพาะที่สำคัญๆ เท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะประมูลให้เอกชนรับเหมาผูกขาดในการดำเนินการเรียกเก็บจาก ราษฎร ผู้ที่ประมูลได้เรียกว่า "เจ้าภาษีหรือนายอากร" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนเกือบทั้งหมดตามหัวเมือง ราษฎรจะเรียกว่า กรมการจีน
ระบบเจ้าเจ้าภาษีนายอากรนี้มีทั้งผลดีและผลเสียต่อชาติดังนี้
ผลดี ช่วยประหยัดในการลงทุนดำเนินการ ทำให้ท้องพระคลังมีจำนวนภาษีที่แน่นอนไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการเรียกเก็บ
ผลเสีย เจ้าภาษีนายอากรบางคนคิดหากำไรในทางมิชอบ มีการรั่วไหลมักใช้อำนาจข่มขู่ราษฎรเรียกเก็บเงินตามพิกัด
2. ที่มาของรายได้แผ่นดินและรายได้ประชาชาติ
2.1 การเกษตร มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของชาวไทยตลอดเวลา มีกรมนารับผิดชอบ รายได้ของแผ่นดินส่วนใหญ่รับจากภาษีอากรด้านการเกษตร เช่น อากรค่านา อากรสมพัตสร (เก็บจากไม้ล้มลุกแต่ไม่ใช่ข้าว) และมีการเดินสวน เดินนา
2.2 การค้าขาย การค้าจะทำโดยพระคลังสินค้าและขุนนางชั้นผู้ใหญ่ สินค้าที่มีการซื้อขายระหว่างพระคลังกับพ่อค้ามี 2 ประเภทคือ สินค้าผูกขาดกับสินค้าต้องห้าม และได้มีการส่งเรือสำเภาไปค้าขายกับต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นของทางราชการ เช่นค้าขายกับจีน อินเดียและพวกอาหรับ ในสมัยรัชกาลที่ 2 การค้ากับต่างประเทศขยายตัวมากขึ้น เพราะพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3 ต่อมา) ทรงเป็นหัวแรงสำคัญจนได้รับสมญาว่า "เจ้าสัว" และมีการค้าขายกับทางตะวันตก เช่น โปรตุเกส อังกฤษ อเมริกา ฮอลันดา สมัยรัชกาลที่ 3 การค้าขายสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ
2.3 ภาษีอากร ภาษีอากรที่เรียกเก็บ มี 4 ประเภทคือ
- จังกอบ คือ ค่าผ่านด่านที่เก็บจากเรือ เกวียน หรือเครื่องบรรทุกอื่นที่ผ่านด่าน
- อากร คือ ภาษีที่เก็บจากราษฎรซึ่งประกอบอาชีพที่มิใช่การค้า ซึ่งปกติจะเรียกอากรตามอาชีพที่ทำ เช่น อากรค่านา อากรสุรา
- ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากค่าบริการที่ทางราชการทำให้แก่ราษฎร เช่น ออกโฉนด ค่าธรรมเนียมศาล
- ส่วย คือ เงินหรือสิ่งของที่ไพร่หลวงผู้ที่ไม่ต้องเข้าเวรส่งมอบแทนการเข้าประจำการ
3. ระบบเงินตรา
- เงินพดด้วง (รูปสัณฐานกลมเป็นก้อนแต่ตีปลาย 2 ข้างงอเข้าหากัน)
- เงินปลีกย่อย ใช้เบี้ยและหอยเหมือนสุโขทัยและอยุธยา
ด้านสังคม

สภาพสังคมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นส่วนใหญ่มีลักษณะโครงสร้างไม่แตกต่างจากสมัยอยุธยาและธนบุรี
องค์ประกอบของสังคมไทยประกอบด้วยสถาบันต่างๆ ได้แก่ สถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ไพร่ และทาส
1. พระมหากษัตริย์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะเป็นทั้งเทวราชาและธรรมราชา
พระมหากษัตริย์ในฐานะองค์สมมติเทพ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะเป็นสมมติเทพตามติของศาสนาพราหมณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น สมมติเทพ เช่น การสร้างที่ประทับ พระที่นั่งพระราชวัง การประกอบพิธีต่างๆ การใช้คำราชาศัพท์ เป็นต้น พระมหากษัตริย์ในฐานะธรรมราชา ตามคติธรรมราชานั้นถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม 10 ประการ และจักรวรรดิวัตร 12 ประการ อย่างไรก็ตาม โดยขัตติยราชประเพณีแล้วพระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานะประดุจดังสมมติเทพ โดยคติความเชื่อ แต่ในทางปฏิบัติ พระองค์ทรงเป็นธรรมราชา ทำให้ฐานะของพระมหากษัตริย์ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะของความเป็นผู้ นำทางการเมืองที่เหมือนคนธรรมดามากขึ้น แต่พระองค์ก็ยังทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดเป็นเจ้าชีวิตของปวงชน เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นจอมทัพ เป็นต้น และพระบรมราชโองการของพระองค์ ผู้ใดจะฝ่าฝืนไม่ได้ ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษอย่างหนัก
2. พระบรมวงศานุวงศ์
สกุลยศและอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลายส่วนใหญ่ก็อยู่ในฐานะอันสูงส่ง ทั้งนี้เพราะเป็นพระญาติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งของพระบรมวงศานุวงศ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สกุลยศกับอิสริยศ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สกุลยศมีอยู่ 3 ตำแหน่ง คือ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า ส่วน อิสรยศ คือ พระยศที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้น อิสริยยศที่สำคัญที่สุดและสูงที่สุด ได้แก่ พระมหาอุปราช นอกจากนี้การได้รับตำแหน่งทรงกรมก็คือเป็นอิสริยยศด้วยเหมือนกัน ได้แก่ กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมสมเด็จ การถือศักดินาของพระบรมวงศานุวงศ์ แตกต่างกันไปตามลำดับ ถ้าเป็นเจ้าฟ้าจะมีศักดินาสูงสุด หม่อมราชวงศ์จะมีศักดินาต่ำสุด แต่ถ้าทรงกรมก็มีศักดินาสูงกว่าเจ้านายในระดับเดียวกัน แต่มิได้ทรงกรม เช่น เจ้าฟ้าที่เป็นพระเชษฐาหรือพระอนุชาของพระมหากษัตริย์ถ้าไม่ได้ทรงกรมจะถือ ศักดินา 20,000 ไร่ ถ้าทรงกรมจะถือศักดินาถึง 50,000 ไร่ตามลำดับ สิทธิตามกฏหมายของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีสิทธิอยู่ 2 ประการ คือ จะพิจารณาคดีของพระบรมวงศานุวงศ์ในศาลใดๆ ไม่ได้นอกจากศาลของกรมวัง และ จะนำพระบรมวงศานุวงศ์ไปขายเป็นทาสไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่ยอมให้กระทำสัญญาซื้อขายเช่นนั้นได้อย่างถูกต้องตาม กฏหมาย
3. ขุนนาง
คือ บุคคลที่รับราชการแผ่นดิน มีศักดินา ยศ ราชทินนาม และตำแหน่ง เป็นเครื่องชี้บอกถึงอำนาจและเกียรติยศ ขุนนางเปรียบเหมือนข้าราชการของแผ่นดิน แต่ข้าราชการแผ่นดินบางคนจะไม่ได้มีฐานะเป็นขุนนางก็ได้ เพราะการเป็นขุนนางต้องขึ้นอยู่กับศักดินาของตนด้วย ผู้มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไปถึงได้เป็นขุนนาง ยกเว้นพวกมหาดเล็กเพราะถือว่าพวกนี้เป็นขุนนางอยู่แล้ว
การลำดับยศของขุนนาง ยศของขุนนางมี 7 ลำดับ จากสูงสุดไปต่ำสุดดังนี้ สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น และ พัน ศักดินาของสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ในระดับ 30,000 ไร่ นับว่าสูงสุดในบรรดาขุนนางทั้งหลาย ส่วนพันถือศักดินา 100-400 ไร่ หมื่นถือศักดินา 200-800 ไร่ ขุนถือศักดินา 200-1,000 ไร่ สำหรับขุนนางที่มียศเป็นหลวงขึ้นไป มีศักดินาไม่ต่ำกว่า 800 ไร่ขึ้นไป แสดงว่าผู้เป็นพัน หมื่น ขุนอาจมีสิทธิไม่ได้เป็นขุนนางก็ได้ ถ้าศักดินาของตนเองไม่ถึง 400 ไร่ และอาจมีสิทธิเป็นขุนนางได้ถ้ามีศักดินาถึง 400 ไร่ขึ้นไป สิทธิตามกฏหมายของพวกขุนนาง เช่น ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานไปใช้ โดยการยกเว้นนี้ต่อเนื่องไปถึงบุตรของขุนนางด้วย แต่ถ้าผู้ใดเป็นข้าราชการมีศักดินาไม่ถึง 400 ไร่ก็จะได้รับเอกสารยกเว้นการเกณฑ์แรงงานเป็นรายบุคคล แต่เอกสารนี้มิได้คลุมไปถึงลูกของข้าราชการเหล่านั้น สำหรับผู้ที่มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป จะได้รับสิทธิเข้าเฝ้าในการเสด็จออกขุนนาง และได้รับอนุญาตให้ผู้อื่นขึ้นศาลแทนตนได้ เป็นต้น
4. ไพร่
ฐานันดรไพร่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีสภาพไม่แตกต่างจากสมัยอยุธยา ไพร่ถูกมูลนายเอาชื่อเข้าบัญชีไว้ เพื่อเกณฑ์แรงงานไปใช้ในราชการต่างๆ ด้วยเหตุนี้ไพร่จึงต้องสังกัดอยู่กับเจ้าขุนมูลนายที่ตนสมัครอยู่ด้วยและถ้า เจ้าขุนมูลนายของตนสังกัดอยู่กรมกองใด ไพร่ผู้นั้นก็ต้องสังกัดในกรมกองนั้นตามเจ้านายด้วย
ไพร่อาจแบ่งประเภทตามสังกัดได้เป็น 2 ประเภท คือ ไพร่หลวงและไพร่สม ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้
ไพร่หลวง หมายถึง ไพร่ที่พระราชทานแก่กรมกองต่างๆ เป็นไพร่ของพระมหากษัตริย์โดยตรง หน้าที่ของไพร่หลวงจึงแตกต่างกันไปตามหน้าที่ที่ระบุไว้ของแต่ละกรมกอง ดังนั้นไพร่หลวง จึงอยู่ในกรม 2 ประเภท คือ ไพร่หลวงที่ต้องมารับราชการตามที่ทางราชการกำหนดไว้ หากมาไม่ได้ต้องให้ผู้อื่นมาแทนหรือส่งเงินแทนการรับราชการ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯให้ไพร่หลวงเปลี่ยนเป็นอยู่เวรรับราชการปีละ 4 เดือน คือ เข้าเวร 1 เดือน ออกเวร 2 เดือน ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงลดเวลารับราชการของไพร่หลวงลงอีกจาก 4 เดือน เป็น 3 เดือนต่อปี คือเข้าเวร 1 เดือน ออกเวร 3 เดือน ไพร่หลวงที่ต้องเสียเงิน แต่ไม่ต้องมารับราชการ ซึ่งเรียกว่า ไพร่หลวงส่วย ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่เจ้านายและขุนนางที่มีตำแหน่งทำราชการเพื่อเป็นผลประโยชน์ เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นยังไม่มีเงินเดือน การควบคุมไพร่ของมูลนายจึงหมายถึงการได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เช่น ได้รับส่วนลดจาการเก็บเงินค่าราชการ หรือได้รับของกำนัลจากไพร่ เป็นต้น ไพร่สมนั้นจะตกเป็นของมูลนายตราบเท่าที่ขุนนางผู้เป็นมูลนายยังมีชีวิตอยู่ ในตำแหน่งราชการ เมื่อมูลนายถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง นอกจากบุตรของขุนนางผู้นั้นจะยื่นคำร้องขอควบคุมไพร่สมต่อจากบิดา
ไพร่สามารถเปลี่ยนแปลงฐานะของตนเองได้ใน 2 กรณี คือ ถ้าทำความดีความชอบอย่างสูงต่อแผ่นดิน อาจได้รับเลื่อนฐานะเป็นขุนนางได้ แต่ถ้ามีความผิดหรือเป็นหนี้สินต่อนายเงิน ก็จะต้องตกเป็นทาสได้เช่นกัน
ในเรื่องความเป็นอยู่ของไพร่นั้น ไพร่หลวงจะมีฐานะลำบากที่สุด ส่วนไพร่ส่วยสบายที่สุด เพราะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไพร่หลวงจะถูกเกณฑ์แรงงานเพื่อเข้ารับราชการ ทั้งในยามสงครามและยามสงบปีละ 3 เดือน ส่วนไพร่สมก็มีหน้าที่รับใช้มูลนายเป็นส่วนใหญ่ ไพร่สมจึงทำงานเบากว่าไพร่หลวง
5. ทาส
หมาย ถึง บุคคลที่มิได้มีกรรมสิทธิ์ในแรงงานและชีวิตของตนเอง แต่กลับตกเป็นของนายจนกว่าจะได้รับการไถ่ตัวพ้นจากความเป็นทาส นายมีสิทธิ์ในการซื้อขายทาสได้ ลงโทษทุบตีทาสได้ แต่จะให้ถึงตายไม่ได้ ทาสมีศักดินาเพียง 5 ไร่เท่านั้น
การแบ่งประเภทของทาส ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทาสคงมีอยู่ 7 ประเภทเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา ได้แก่ ทาส ไถ่มาด้วยทรัพย์,ลูกทาสที่เกิดในเรือนเบี้ย,ทาสที่ได้มาข้างฝ่ายบิดามารดา, ทาสมีผู้ให้,ทาสอันได้ช่วยกังวลธุระทุกข์ด้วยคนต้องโทษทัณฑ์,ทาสที่เลี้ยง เอาไว้ในเวลาข้าวยากหมากแพง,และทาสเชลย ทาสเหล่านี้อาจไม่ยอมขอทานเพราะถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย จึงยอมขายตัวลงเป็นทาส การหลุดพ้นจากความเป็นทาส ทาสมีโอกาสได้รับการปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากความเป็นทาส ในกรณีต่อไปนี้ - ถ้านายเงินอนุญาตให้ทาสบวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณรหรือนางชี ก็ถือว่าหลุดพ้นจากความเป็นทาส แม้ภายหลังจะลาสิกขาบทแล้ว ก็จะเอาคืนมาเป็นทาสของตนไม่ได้ - ในกรณีนายเงินใช้ทาสไปทำสงครามและทาสถูกจับเป็นเชลย ต่อมาหนีรอดมาได้ก็หลุดพ้นจากความเป็นทาส ถ้าทาสฟ้องนายว่าเป็นกบฏและสวบสวนได้ว่าเป็นจริง ให้ทาสนั้นพ้นจากความเป็นทาสได้ - นายเงิน พ่อของนายเงิน หรือพี่น้องลูกหลานของนายเงิน ได้ทาสเป็นภรรยา ให้ทาสนั้นเป็นไท และลูกที่เกิดมานั้นเป็นไทด้วย ถ้าทาสนั้นตายด้วยการทำธุรกิจใดๆ ให้แก่นายเงิน นายเงินจะเรียกเอาเงินคืนจากผู้ขายไม่ได้ แต่ถ้าตายด้วยเหตุอื่นนายเงินจะเรียกเอาเงินคืนจากผู้ขายได้บ้าง เป็นอิสระด้วยการไถ่ตัว อาจจะเป็นผู้ขอไถ่ตัวเอง หรือมีบุคคลใดก็ได้มาไถ่ให้เป็นอิสระ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายหลังจากการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทาสจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกทาสได้เพิ่มจำนวนมาก และคาดว่าผู้ที่เป็นทาสนั้นมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่ยอมเป็นทาสเพราะปัญหาซึ่งมีหนี้สินเป็นจำนวนมากที่สุด ทั้งนี้เพราะพวกชาวบ้านเป็นจำนวนมากที่ต้องเป็นหนี้สินเนื่องจากเก็บเกี่ยว ไม่ได้ผล แต่ก็มีอีกเป็นจำนวนมากที่ยอมขายตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงาน
นอกจากนี้สถาบันสงฆ์ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมไทย ซึ่งพระมหากษัตริย์ ขุนนาง ไพร่ ทาส อาจเปลี่ยนสถานภาพจากฆราวาสมาเป็นพระภิกษุในสถาบันสงฆ์ได้ และผู้เป็นพระสงฆ์จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเกณฑ์แรงงาน
พระสงฆ์จะเป็นผู้ได้รับความเคารพนับถือจาก คนไทยทุกระดับชั้น ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาจนถึงไพร่และทาส แต่ในบางครั้งเมื่อสถาบันพระสงฆ์เสื่อมโทรมด้วยข้อวัตรปฏิบัติ พระมหากษัตริย์จะทรงเอาเป็นพระธุระเพื่อปรับปรุงแก้ไข และทำการปฏิรูปคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยยิ่งขึ้น ดังเช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงออกกฏหมายพระสงฆ์เพื่อควบคุมให้พระสงฆ์มีความบริสุทธิ์ เป็นต้น
สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาพำนักอาศัยอยู่ใน ราชอาณาจักรมีอยู่ด้วยกันหลายพวก เป็นต้นว่า มอญ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน บางพวกก็หนีร้อนมาพึ่งเย็น บางพวกก็ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลย ไม่ได้มีโอกาสกลับบ้านเมืองของตนเอง แต่ในบรรดาคนต่างด้าวที่เข้ามาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรและมีผลกระทบอย่าง สำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจของไทยในสมัยนี้คือพวกคนจีน

พัฒนาการด้านศิลปวัฒนธรรม

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเจริญ รุ่งเรืองขึ้นใหม่ นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ให้วัฒนธรรมไทยในยุคนี้ด้วย นับได้ว่าเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่อยุธยาให้กลับเจริญ รุ่งเรือง หลังจากประสบกับวิกฤตการณ์สงครามสู้รบระหว่างไทยกับพม่ามาแล้ว
สภาพทางสังคมของไทยตั้งแต่อดีต ได้ผูกพันกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมจึงมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเจริญ รุ่งเรืองทางศาสนาด้วย ศิลปกรรมและวรรณกรรมต่างๆ ที่บรรจงสร้างด้วยความประณีตก็เกิดจากแรงศรัทธาทางศาสนาทั้งสิ้น
1.การทำนุบำรุงทางด้านพระพุทธศาสนา
ในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ.2325-2352) พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาธาตุยุวราชรัง สฤษดิ์ ใน พ.ศ.2331 โดยใช้เวลาประชุมกันประมาณ 5 เดือน ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352-2367) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชกุศลอย่างใหญ่โตในวันวิสาขบูชา เหมือนดังที่เคยทำกันในสมัยอยุธยา คือ ทำบุญกันทั่วไปเป็นเวลา 3 วัน สัตว์ที่เคยถูกฆ่าเป็นอาหารนั้นโปรดให้ปล่อยให้หมดภายใน 3 วัน มิให้มีการฆ่าสัตว์โดยเด็ดขาด ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ทรงทำนุบำรุงคณะสงฆ์ ตลอดจนทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและวัดวาอารามมากมาย ในสมัยนี้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ได้มีโอกาสเผยแผ่ ในประเทศไทยโดยพวกมิชชันนารี ทำให้คนไทยบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันในวงการพระพุทธศาสนาของไทยก็มีการเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปข้อ วัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ไทยให้สอดคล้องกับคำสอนในพระไตรปิฏก โดยเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งทรงผนวชมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และได้เสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2370-2394) ทรงเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการปฏิรูปครั้งนั้น จนกระทั่งได้ทรงตั้งนิกายใหม่ เรียกว่า "ธรรมยุติกนิกาย"
2. การทำนุบำรุงศิลปกรรม
การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ในบรรดาศิลปกรรมของไทยซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงให้ความสนพระทัยมากนั้น ได้แก่ บรรดาตึกรามต่างๆ ที่สร้างขึ้น ล้วนมีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงามทั้งภายในและภายนอก ทั้งโดยปูนและโดยไม้แกะสลัก ตึกที่ทรงให้จัดสร้างขึ้นส่วนมากเป็นวัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีพระที่นั่งต่างๆ เช่น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ, พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นต้น รัชกาลที่ 1 ทรงสนพระทัยทางด้านวรรณคดี ดังนั้นในสมัยนี้จึงมีบทวรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ นอกจากนี้ก็มีการแปลวรรณกรรมต่างชาติมาเป็นภาษาไทย เช่น หนังสือสามก๊ก ,ราชาธิราช เป็นต้น
การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงสนพระทัยในเรื่องการก่อสร้างและตกแต่งตึกรามต่างๆ พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง "สวนขวา" ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ทรงริเริ่มสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (แต่สร้างสำเร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 3) พระปรางค์จะตกแต่งด้วยถ้วยและชามจีนซึ่งทุบให้แตกบ้าง แล้วติดกับฝาทำเป็นลวดลายรูปต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการแกะสลัก ดังจะเห็นได้จากประตูวัดพระเชตพนวิมลมังคลาราม ประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น รัชกาลที่ 2 โปรดการฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยเป็นอันมาก ทั้งโขนและละคร ทรงปรับปรุงจังหวะและท่ารำต่างๆ โดยพระองค์เอง พระองค์โปรดให้มีพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่ ทั้งที่เป็นเรื่องเดิมและเรื่องใหม่ หรือเอาเรื่องเดิมมาแต่งขึ้นใหม่ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 มีทั้งหมด 7 เรื่อง เรื่อง"อิเหนา" เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เองตลอดทั้งเรื่อง ส่วนอีก 6 เรื่อง โปรดเกล้าฯ ให้กวีท่านอื่นๆ ร่วมงานด้วย
การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 การผลิตงานทางด้านศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 จัดว่ามีลักษณะเยี่ยมยอดในวงการศิลปะของไทยไม่แพ้ในสมัยอื่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมุ่งซ่อมแซมและปรับปรุงปราสาทมากกว่าจะสร้างใหม่ โดยระมัดระวังรักษาแบบดั้งเดิมเอาไว้ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และขยายเขตวัดวาอารามมากมาย ทรงสร้างวัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ขึ้น 5 วัด ให้เชื้อพระวงศ์และขุนนางสร้างอีก 6 วัด วัดสำคัญที่สร้างในสมัยนี้ได้แก่ วัดเทพธิดาราม,วัดราชนัดดา,วัดเฉลิมพระเกียรติ์,วัดบวรนิเวศวรวิหาร,วัดบวร สถาน,วัดประยูรวงศ์,วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น สิ่งก่อสร้างมากมายที่เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมทางศาสนาของไทย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระสถูป พระมลฑป หอระฆัง เป็นต้น โบสถ์และวิหารที่สร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาลาดเป็นชั้น มุงกระเบี้องสี ผนังก่ออิฐถือปูนประดับลวดลาย และมีเสาใหญ่รายรอบรับชายคา โบสถ์ขนาดใหญ่และสวยงามที่สร้างในรัชกาลนี้คือ โบสถ์วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งสร้างแบบสามัญ ส่วนโบสถ์วัดบวรนิเวศวรวิหารสร้างเป็นแบบมีมุขยื่นออกมาทั้งสองข้างทางด้าน ปลาย สถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมา คือ พระมณฑป ศาลา หอระฆัง และระเบียงโบสถ์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นงานที่ดีที่สุด คือ ระเบียงรอบพระวิหารที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งมีหน้าบันแกะสลักไว้อย่างงดงาม
ผลงานทางสถาปัตยกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ได้ก่อสร้างไว้ บริเวณวัด และจัดอยู่ในจำพวกสิ่งก่อสร้างปลีกย่อยคือ เรือสำเภาซึ่งก่อด้วยอิฐ รัชกาลที่ 3 ทรงมีรับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อว่าในอนาคตเมื่อไม่มีการสร้างเรือสำเภากันอีก แล้ว ประชาชนจะได้แลเห็นว่าเรือสำเภานั้นมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร วัดที่พระองค์ทรงรับสั่งให้สร้างสิ่งอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ คือ "วัดยานนาวา"
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพเขียนแบบไทยต่างๆ ส่วนมากไม่โดดเด่น ที่เขียนขี้นมาส่วนใหญ่เพื่อความมุ่งหมายในการประดับให้สวยงามเท่านั้น ส่วนงานช่างแกะสลักในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนามากกว่างานช่างในสาขาจิตรกรรม โดยเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องบันดาลใจอันสำคัญยิ่งที่ก่อให้เกิดผลงานทางด้านศิลปะประเภทนี้
ทางด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ 3 ทรงสนับสนุนวรรณคดีทางศาสนาและประวัติศาสตร์ ดังเช่น หนังสือเรื่อง "มลินทปัญญา" เป็นต้น แต่ในสมัยนี้ไม่สนับสนุนให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังไม่โปรดปรานนักแสดงหรือนักประพันธ์คนใดเลย
กล่าวโดยสรุป ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทำนุบำรุงและฟื้นฟูทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 และการทำนุบำรุงก็กระทำโดยวิธีรักษารูปแบบเดิมไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ผสมผสานเข้าไป
ด้วย ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยในยุคนี้เจริญรุ่งเรืองมาก

พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ

(1) เศรษฐกิจไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ประชาชนส่วนใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอาชีพหลัก คือ การทำกสิกรรม เป็นเศรษฐกิจแบบเลี้ยงตนเอง และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ชวา มลายู และประเทศตะวันตก
การค้ากับต่างประเทศส่วนใหญ่ค้าขายทางาทะเลโดยเรือสำเภา มีพระคลังสินค้าทำหน้าที่ผูกขาดการซื้อขายสินค้า รายได้ของแผ่นดินนั้นจะได้จากการเก็บภาษี 4 ประเภท เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา คือ จังกอบ อากร ส่วย และฤชา
สินค้าที่ส่งออกขายต่างประเทศส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าว น้ำตาล พริกไทย ดีบุก รังนก ฝาง และของอื่น ๆ ในพระคลังสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการทำสัญญาทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2369 เรียกว่า สัญญาเบอร์นี และได้ทำสัญญากับสหรัฐอเมริกาในทำนองเดียวกัน จึงทำให้พ่อค้าต่างประเทศเข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ฯ มากขึ้น ทำให้ไทยมีโอกาสส่งสินค้าออกได้มากขึ้น
ดังนั้นรายได้ของแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้จากกิจการ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ภาษีอากรที่เก็บในประเทศและภาษีขาเข้ารวมทั้งการค้ากับต่างประเทศด้วย

(2) เศรษฐกิจไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก
ในสมัยรัชกาลที่ 4
ไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ทำให้การค้ากับต่างประเทศมีความคล่องตัว และมีเสรีทางการค้ามากขึ้น ทำให้ต่างประเทศพอใจ และส่งผู้แทนเข้ามาทำสัญญาการค้ากับไทยมากขึ้น
เนื่องจากวิธีการจัดบริหารด้านภาษีอากรของประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ จึงทำให้เงินรั่วไหลไปมาก รัชกาลที่ 5
ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงวิธีจัดเก็บภาษีและวิธีการบริหารด้านภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พระองค์ทรงปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และการคลังในระบบที่ชัดเจน ดังนี้
1) ยกเลิกระบบการเก็บภาษีอากรเดิม โดยการวางพิกัดอัตราเก็บภาษีเดียวกันทุกมณฑล และแต่งตั้งข้าหลวงคลังไปประจำทุกมณฑล เพื่อดูแลการเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
2) ทำงบประมาณแผ่นดิน เพื่อควบคุมรายรับรายจ่ายของแผ่นดิน
3) ทำสนธิสัญญาพระราชไมตรีว่าด้วยการค้าขาย และพิกัดอัตราภาษีกับประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
4) ประกาศเปลี่ยนใช้มาตรฐานเงินมาเป็นมาตรฐานทองคำ
5) พิมพ์ธนบัตรใช้เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2445
ผลจากการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัชกาลที่ 5 ดังกล่าว ทำให้ระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพตามหลักมาตรฐานสากล และทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ฐานะการคลังมีความมั่นคงและสามารถพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 6 เศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ เนื่องจากเกิดอุทกภัยในปี พ.ศ. 2461 และเกิดฝนแล้งในปี พ.ศ. 2462 ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อการปลูกข้าว ทำให้ขาดแคลนข้าวที่จะบริโภค และที่เคยส่งออกขายในต่างประเทศ ทำให้รายได้ที่เคยได้รับจาการส่งข้าวออกลดต่ำลง

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงรัชภาระหลังจากสภาวะเศรษฐกิจาที่ตำต่ำมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงทรงแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประเทศมีรายจ่ายและรายรับสมดุลกัน จึงได้ดำเนินการ ดังนี้
1) ยุบตำแหน่งหน้าที่ที่ไม่จำเป็น และปลดข้าราชการบางตำแหน่ง เพื่อตัดทอนรายาจ่ายของรัฐบาล
2) ลดเงินที่จะรับเข้าพระคลังข้างที่ปีละ 4 ล้านบาท เพื่อตัดทอดรายจ่ายราชสำนักและส่วนพระองค์
3) เพิ่มการเก็บภาษีบางประเภท เช่น ภาษีเงินเดือน
การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของรัชกาลที่ 7 ยังไม่สามารถทำให้ฐานะการเงินของประเทศอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย เพราะราษฎรว่างงาน ข้าราชการที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งก็เกิดความไม่พอใจ ประกอบกับมีกลุ่มคนหนุ่มที่จบการศึกษาระดับสูงจากต่างประเทศและในประเทศมีความต้องการจะปฏิวัติ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475


ความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยรัตนโกสินทร์

ความสัมพันธ์กับล้านนา
ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 ลักษณะความสัมพันธ์ยังเป็นมิตรที่ดีกับล้านนา

สัมพันธไมตรีอันดีที่ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอย่างต่อเนื่องกับล้านนา ทำให้รัชกาลที่ 5 สามารถผนวกล้านนาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยได้ง่ายขึ้น

ความสัมพันธ์กับพม่า
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะรัชกาลที่ 1 ไทยต้องรับมือกับการถูกบุกโจมตีอย่างหนักจากพม่า ถึงแม้ในบางช่วงพม่าจะส่งฑูตมาเจรจาขอเป็นไมตรีกับไทย แต่ก็ไม่ได้มีความจริงใจ เพียงต้องการตรวจสอบความพร้อมรบของฝ่ายไทยเท่านั้น

สงครามครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ สงครามเก้าทัพ ในปี 2328 สมัยรัชกาลที่ 1 พม่าได้ส่งกองทัพเข้ามาโจมตีไทยพร้อมๆ กันหลายทาง แต่ผลักดันกองทัพพม่าให้ถอยกลับไปได้

สมัยรัชกาลที่ 2 และสมัยรัชกาลที่ 3 แม้ความสัมพันธ์จะยังเป็นศัตรูกัน แต่การทำสงครามก็ค่อยๆ ลดน้อยลงตามลำดับเพราะพม่ามีปัญหาภายในต้องทำสงครามต่อสู้กับอังกฤษ

ในปลายปี 2352 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 พม่าได้ยกทัพเข้ามาโจมตีหัวเมืองภาคใต้ ได้แก่ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ถลาง ระนอง กระบี่ ชุมพร แต่กองทัพไทยจากกรุงเทพฯ และกองทัพจากนครศรีธรรมราชมาช่วยกันขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ

สมัยรัชกาลที่ 3 ไทยก็ยังคงทำสงครามกับพม่าอยู่บ้าง แต่เป็นสงครามขนาดเล็ก เพื่อแย่งชิงการมีอิทธิพลเหนือหัวเมืองทางเหนือ คือ สงครามเมืองเชียงรุ่ง ในปี 2386 และสงครามเมืองเชียงตุงในปี 2392

ผลจากการที่ไทยดำเนินความสัมพันธ์กับพม่าอย่างแข็งกร้าว ไม่ยอมจำนนต่อการรุกรานอย่างหนักจากพม่า นอกจากจะสามารถปกป้องราชอาณาจักรไว้ได้แล้ว ยังช่วยทำให้ผู้คนเกิดความมั่นใจว่าไทยสามารถจะรับมือกับการคุกคามจากพม่าได้ และพม่าจะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรอีกต่อไป

ความสัมพันธ์กับมอญ
ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จะมีความสัมพันธ์แบบผูกไมตรี ช่วยเหลือมอญให้พ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหงของพม่า

สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงนำกองทัพไทยไปช่วยพระยาทวายรบกับพม่าที่ครอบครองเมืองทวายเอาไว้ หลังจากปิดล้อมเมืองอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพกลับ เพราะทรงมีพระราชดำริว่า ถึงตีเมืองทวายได้ก็คงรักษาเมืองไว้ได้ไม่นาน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ตอนยกทัพกลับได้พาครอบครัวชาวมอญมายังกรุงเทพฯ ด้วย

สมัยรัชกาลที่ 2 ชาวมอญไม่พอใจการปกครองอย่างกดขี่ของพวกพม่า ได้อพยพครอบครัวเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เมื่อปี 2357 และ 2358 รัชกาลที่ 2 ทรงให้ความอุปถัมถ์ โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญที่เดินทางเข้ามาใหม่ ออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่กับชุมชนมอญเดิมที่แขวงเมืองนนทบุรี ปทุมธานี และเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง)

ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมอญยุติลงในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรี ได้ตกไปอยู่ในอำนาจของอังกฤษ ไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับหัวเมืองมอญ

ผลจากความสัมพันธ์กับหัวเมืองมอญ นอกจากไทยจะได้กำลังผู้คนและความจงรักภักดีจากชาวมอญแล้ว ไทยยังได้หัวหน้ามอญไว้ใช้ในราชการและได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมบางประการจากชาวมอญมาด้วย

ความสัมพันธ์กับเขมร
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเขมรจะเป็นด้านการทำสงครามและด้านการเมือง เพื่อขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครอง ทั้งนี้เขมรจะเป็นดินแดนที่ไทยกับญวนต่างแข่งขันแย่งชิงอำนาจเข้าไปดูแลกันตลอดมา เขมรจึงเป็นเหมือนรัฐกันชนระหว่างไทยกับญวน

สมัยรัชกาลที่ 1 ไทยมีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดการดูแลปกครองเขมรให้เรียบร้อย โดยเป็นผู้แต่งตั้งกษัตริย์ที่ขึ้นครองเขมร ในปี 2325 เกิดความไม่สงบในเขมร พระยายมราช (แบน) จึงพานักองเอง รัชทายาทเขมรลี้ภัยการเมืองเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งก็ทรงรับอุปการะชุบเลี้ยงอย่างดี เมื่อเหตุการณ์ในเขมรสงบ ราชสำนักไทยได้แต่งตั้งเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (เลื่อนบรรดาศักดิ์จากพระยายมราช) ไปเป็นผู้สำเร็จราชการชั่วคราว เมื่อนักองเองเจริญวัย ทางกรุงเทพฯ ก็แต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์เขมร ในปี 2337 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ต่อมาเมื่อสิ้นพระชนม์ได้แต่งตั้งนักองจันทร์เป็นสมเด็จพระอุทัยราชาขึ้นครองราชย์สืบไป

สมัยรัชกาลที่ 2 ลักษณะความสัมพันธ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอีก เมื่อพระอุทัยราชาได้หันไปสนิทสนมกับญวนและแสดงท่าทีไม่ยอมรับอำนาจจากกรุงเทพฯ ทางราชสำนักไทยจึงแต่งตั้งนักองสงวนเป็นพระมหาอุปโยราช (เทียบได้กับตำแหน่งวังหน้า) เพื่อไว้ถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองของเขมร ซึ่งเขมรในระยะนี้ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับไทยและญวน

สมัยรัชกาลที่ 3 ไทยพยายามแผ่อิทธิพลเข้าไปในเขมรอีก โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชยกทัพไปตีเขมร ในปี 2376 และปี 2383 สามารถยึดเมืองหลวงที่พนมเปญไว้ได้ แต่ก็ถูกเจ้านายเขมรที่นิยมญวนได้ไปร่วมมือกับญวนทำการรบต่อต้านไทย ทำให้ไทยกับญวนต้องทำสงครามสู้รบกันต่อมาอีกหลายปี ในที่สุด ไทยกับญวนได้ร่วมมือกันแก้ไขข้อพิพาทร่วมกัน ตั้งนักองด้วงหรือพระหริรักษ์รามาธิบดีขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร และให้เขมรจัดส่งบรรณาการให้ไทยกับญวนอย่างเท่าเทียมกัน ปัญหาเรื่องเขมรจึงยุติลง

ความสัมพันธ์กับล้านช้าง (ลาว)
ล้านช้างหรือลาว ซึ่งนับว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันนั้น ลักษณะความสัมพันธ์ที่ไทยมีต่อล้านช้างมีอยู่หลายลักษณะผสมผสานกัน คือ มีทั้งด้านความสัมพันธ์ในด้านการเมืองที่ไทยพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปครอบงำ มีการผูกมิตรไมตรี และในบางช่วงมีความสัมพันธ์ด้านการทำสงครามทำศึกกัน

สมัยรัชกาลที่ 1 เชื้อพระวงศ์ของล้านช้างแย่งชิงอำนาจกันเอง และแตกแยกออกเป็น 3 ฝ่าย คือเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ แต่ละฝ่ายต่างเป็นอิสระต่อกัน แต่ทั้งหมดขึ้นตรงกับกรุงเทพฯ การที่ล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ฝ่าย ทำให้ไทยสามารถสร้างความสัมพันธ์ด้วยการขยายอิทธิพลเข้าไปครอบงำได้ง่ายขึ้น ผสมผสานกับการผูกมิตรไมตรี เพื่อให้เกิดความจงรักภักดีอย่างยินยอมพร้อมใจ

สมัยรัชกาลที่ 2 ไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับเวียงจันทน์ โดยราชสำนักไทยเห็นว่าเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์มีความจริงใจและจงรักภักดีกับไทย จึงบำเหน็จความชอบให้เจ้าราชบุตร บุตรของเจ้าอนุวงศ์ไปครองเมืองสำคัญ คือ เมืองจำปาศักดิ์ ส่งผลให้เจ้าอนุวงศ์มีกำลังเข็มแข็งมาก

สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดเหตุการณ์กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับล้านช้างอย่างรุนแรง เมื่อเจ้าอนุวงศ์ซึ่งมีความคิดจะรวมเอาเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ กลับมาเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วปกครองตนเองอย่างอิสระไม่ขึ้นกับไทย ได้ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองทางอิสานของไทยใน ปี 2369

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดวีรสตรีคนสำคัญคือ คุณหญิงโม ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานนามว่า ท้าวสุรนารี คือ เมื่อกองทัพของเจ้าอนุวงศ์มาถึงนครราชสีมา ก็ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเพื่อจะนำกลับไปเวียงจันทน์ ขณะนั้นเจ้าเมืองนครราชสีมาไปราชการที่อื่น แต่ชาวเมืองก็ได้คุณหญิงโมเป็นผู้นำชาวเมืองรวบรวมกำลังผู้คนต่อสู้กับทหารลาวจนแตกพ่ายไป ขณะเดียวกันทางกรุงเทพฯ ก็จัดส่งกองทัพขึ้นมาปราบ ช่วยปลดปล่อยหัวเมืองภาคอีสานที่ถูกทหารเจ้าอนุวงศ์ยึดไว้และตามไปโจมตีจนถึงดินแดนลาว สามารถเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้

สำหรับเจ้าอนุวงศ์ซึ่งหลบหนีไปอยู่กับญวน ภายหลังในปี 2370 ได้หวนย้อนนำกำลังมาโจมตีทหารไทยที่อยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์แต่พ่ายแพ้และถูกจับกุมตัวได้

การก่อกบฏของเจ้าอนุวงศ์ในปี 2369 ทำให้ทางกรุงเทพฯ ดำเนินการปรับปรุงความสัมพันธ์กับล้านช้างใหม่ โดยเข้าไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ความสัมพันธ์กับญวน (เวียดนาม)
สมัยรัชกาลที่ 1 ผลจากการที่ไทยให้การอุปการะและช่วยเหลือองเชียงสือมาตลอด ภายหลังเมื่อองเชียงสือขึ้นเป็นกษัตริย์ญวน จึงทำให้สัมพันธไมตรีกับญวนดำเนินไปด้วยดี

ในปี 2326 องเชียงสือได้ทูลขอให้ไทยช่วยส่งกำลังไปปราบกบฏ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ก็ทรงให้ความอนุเคราะห์ จึงส่งทหารไทยไปรบกับพวกไกเญิน ถึงแม้จะปราบไม่ได้ แต่ก็ทำให้องเชียงสือสำนึกในบุญคุณของไทย ดังนั้น เมื่อองเชียงสือรวบรวมแผ่นดินญวนได้เป็นปึกแผ่นและตั้งตนเป็นกษัตริย์ จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวนในช่วงนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

สมัยรัชกาลที่ 2 ตอนต้นรัชกาล ไทยกับญวนก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จนกระทั้งถึงสมัยพระเจ้ามินหมาง ญวนได้ขยายอิทธิพลเข้าไปยังเขมรอีก จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับไทย แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องทำสงครามกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ปัญหาเขมรขยายตัวลุกลามมากขึ้น ทั้งนี้เพราะญวนมีเป้าหมายที่จะครอบครองเขมรเพื่อกลืนชาติ รวมทั้งแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับไทย ความสัมพันธ์กับญวนจึงเปลี่ยนมาเป็นศัตรู ทำสงครามต่อสู้กัน โดยไทยส่งทหารบุกไปตีเขมรยึดพนมเปญไว้ได้ในปี 2376 และเลยไปตีเมืองไซ่ง่อนด้วย

ปัญหาการแย่งชิงอำนาจในการครอบครองเขมร ทำให้ไทยต้องทำศึกสงครามกับญวนต่อมาอีกหลายปี โดยไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ภายหลังเมื่อญวนเกิดข้อพิพาทกับฝรั่งเศส จึงได้เปิดการเจรจากับไทย สามารถยุติสงครามระหว่างกันได้ในปี 2388 หลังจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวนก็ยุติลงอย่างเป็นทางการ เพราะญวนได้ตกไปเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะความสัมพันธ์จะเป็นทางด้านการเมือง โดยไทยพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปครอบครองทั้งทางด้านการผูกมิตรไมตรี และการทำสงครามในบางครั้ง

สมัยรัชกาลที่ 1 ไทยได้หัวเมืองมลายูบางเมืองมาเป็นเมืองขึ้น คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปัตตานี ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้ได้เข้าขออ่อนน้อมต่อไทยในปี 2328 รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ครองเมืองเดิมปกครองเมืองสืบต่อไป และมีอิสระในการบริหารกิจการบ้านเมืองของตน เพียงแต่ต้องแสดงความจงรักภักดีด้วยการส่งเครื่องราชบรรณาการ และต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาให้ทางกรุงเทพ ทุกๆ 3 ปี สำหรับการกำกับดูแลหัวเมืองดังกล่าว ทรงใช้การถ่วงดุลอำนาจมอบให้เมืองนครศรีธรรมราชดูแลไทรบุรีกับกลันตัน และมอบให้เมืองสงขลาดูแลเมืองปัตตานีกับตรังกานู แต่สถานการณ์ในหัวเมืองมลายูก็มิได้สงบเรียบร้อยดีนัก โดยในปี 2334 เจ้าเมืองปัตตานีได้ส่งกองกำลังเข้าไปโจมตีเมืองสงขลา จนไทยต้องส่งกำลังไปปราบ และเพื่อมิให้ปัตตานีมีอำนาจมากเกินไป จึงแบ่งปัตตานีออกเป็น 7 เมือง ได้แก่ ปัตตานี หนองจิก สายบุรี ยะหริ่ง ยะรา รามันห์ และระแงะ ให้ทุกเมืองขึ้นตรงกับสงขลา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับหัวเมืองมลายูตลอดสมัยรัชกาลที่ 2 และ 3 ก็มิได้ราบรื่นดีนัก ทั้งนี้เพราะหัวเมืองมลายูบางเมือง ถ้ามีโอกาสก็จะตั้งตนเป็นอิสระ ในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ก็ได้ตั้งตนเป็นอิสระ ทางกรุงเทพจึงมอบให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพไปปราบ เจ้าพระยาไทรบุรีได้หลบหนีไปอยู่ที่เกาะหมาก (ปีนัง) ซึ่งไทรบุรีให้อังกฤษเช่า โดยที่ทางกรุงเทพฯ ไม่ทราบเรื่องราวการให้เช่าเกาะหมากมาก่อน อย่างไรก็ตาม อังกฤษก็ได้ส่งฑูตมาเจรจาเรื่องนี้กับไทยใน ปี 2365

สมัยรัชกาลที่ 3 เมืองไทรบุรีได้ก่อกบฏขึ้นอีก 2 ครั้ง ใน ปี 2374 และ 2381 รวมไปถึงหัวเมืองอื่นๆ ด้วย เช่น ปัตตานี สายบุรี ยะลา กลันตัน ตรังกานู ก็ทำตามบ้าง ทางกรุงเทพฯ จึงส่งกองทัพไปปราบ เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงจัดการปกครองหัวเมืองมลายูบางเมืองเสียใหม่ โดยเฉพาะไทรบุรีถูกแบ่งย่อยออกเป็น 4 เมือง ได้แก่ ไทรบุรี ปะลิส สตูล และกะบังปาสู

นับจากนี้ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายูจึงราบรื่นขึ้น โดยไทยพยายามให้เจ้าเมืองที่ฝักใฝ่อยู่กับไทยไปเป็นผู้ปกครองเพื่อจะได้ป้องกันมิให้เกิดข้อขัดแย้งเกิดขึ้น

ความสัมพันธ์กับจีน
ลักษณะความสัมพันธ์ยังเป็นแบบเช่นเดิม คือ เป็นการค้าในระบบรัฐบรรณาการ ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาจนขยายตัวมากขึ้น หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชส่งฑูตไปเยือนจีน และทางราชสำนักจีนให้การยอมรับแล้ว ไทยก็ส่งฑูตนำเครื่องบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีน รวมทั้งหมด 52 ครั้ง ในช่วงระยะเวลาเพียง 69 ปี (พ.ศ.2325-2394)

เหตุผลที่ทำให้สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยส่งฑูตไปยังจีนบ่อยครั้ง เพราะได้รับผลประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางการค้าที่ทางการจีนมอบให้ ทำให้สามารถค้าขายได้สะดวก และได้รับผลกำไรตอบแทนงดงาม ซึ่งนอกจากราชสำนักไทยโดยกรมพระคลังสินค้าจะดำเนินการค้าขายกับจีนโดยตรงแล้ว บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้าเอกชน ยังแต่งเรือสำเภาไปติดต่อค้าขายกับเมืองต่างๆ ของจีนอีกด้วย

สมัยรัชกาลที่ 3 การค้ากับจีนยังคงเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วง 10 ปีแรกของรัชกาล แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ซบเซา อันเป็นผลมาจากปัจจัยภายในประเทศทังของไทยและของจีน คือ ไทยให้ความสนใจมุ่งการค้ากับชาติตะวันตก ขณะที่จีนก็มีปัญหาความมั่นคงต้องรับมือกับการคุกคามของชาติตะวันตก

ผลจากการติดต่อสร้างสัมพันธไมตรีกับจีน นอกจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการค้าแล้ว ยังทำให้จีนบางส่วนอพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในราชอาณาจักรไทย อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยทางอ้อม รวมทังยังให้วัฒนธรรมจีนเผยแพร่มาสู่กรุงรัตนโกสินทร์มากขึ้นด้วย

ความสัมพันธ์กับโปรตุเกส
โปรตุเกสเป็นตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักไทย โดยลักษณะความสัมพันธ์จะเป็นเรื่องการผูกไมตรีและติดต่อค้าขาย

สมัยรัชกาลที่ 1 มีการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างปกติธรรมดาเท่านั้น การติดต่อค้าขายระหว่างกันมีน้อยมาก โดยชาวโปรตุเกสชื่อ อันโตนีโอ วิเสน เป็นผู้นำสาสน์จากทางการโปรตุเกสมาถายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปี 2329 เพื่อขอผูกไมตรีกับไทย ซึ่งรัชกาลที่ 1 ก็ทรงต้อนรับ และมีพระราชสาสน์ตอบกลับไป

ช่วงรัชกาลที่ 2 ความสัมพันธ์ของไทยกับโปรตุเกสมีความแน่นแฟ้นมากขึ้น มีการติดต่อทางการฑูตและทำสัญญาระหว่งกัน โดยในปี 2361 ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสที่เกาะมาเก๊า ได้ส่ง การ์ลูส มานูเอล ดา ซิลเวย์รา นำเครื่องราชบรรณาการและพระราชสาสน์ของกษัตริย์โปรตุเกสมาถวายรัชกาลที่ 2 เพื่อขอเจริญสัมพันธไมตรี ไทยก็ให้การต้อนรับอย่างดี เพราะเห็นว่าโปรตุเกสช่วยอำนวยความสะดวกแก่เรือกำปั่นหลวงที่เดินทางไปค้าขายที่มาเก๊า รวมทั้งไทยยังต้องการซื้อปืนใหญ่จากโปรตุเกสเอาไว้ใช้ป้องกันพระนครด้วยจึงยินดีที่จะเป็นมิตรกับโปรตุเกส

ต่อมาในปี 2363 ผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสที่เมืองกัว ในอินเดีย ได้ร่างสัญญาทางพระราชไมตรีในนามของกษัตริย์โปรตุเกส มอบให้การ์ลูส มานูเอล ดา ซิลเวย์ราเข้ามาถวายโดยขอซิลเวียราเป็นกงสุลโปรตุเกสประจำกรุงเทพฯ ขอพระราชทานที่ดินและอาคารให้กงสุลได้พักอาศัย และขอปักธงโปรตุเกสที่สถานกงสุลด้วย ซึ่งรัชกาลที่ 2 ก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานตามที่ขอ พร้อมแต่งตั้งให้ซิลเวย์รามีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภัยพาณิช

ความสัมพันธ์กับโปรตุเกสนับจากนี้ไปจนตลอดรัชกาลที่ 3 ก็ยังคงเป็นความสัมพันธ์ทางการฑูตและการติดต่อค้าขาย ซึ่งก็มีปริมาณการค้าไม่มากนัก

ความสัมพันธ์กับอังกฤษ
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อังกฤษได้ส่งฑูตเข้ามาเจรจาทางการค้าเป็นระยะๆ และได้จัดทำสัญญากับไทย เพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์มากที่สุด

ในปี 2364 มาควิส เฮสติงส์ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดีย ได้แต่งตั้ง จอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นฑูตเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และเจรจาเรื่องการค้ากับไทยแต่ประสบความล้มเหลว เพราะมีปัญหาหลายประการที่เจรจาตกลงกันไม่ได้ เช่น อังกฤษตั้งเงื่อนไขการขายอาวุธปีนกับไทยไว้มาก ไทยยอมผ่อนปรนลดอัตราการจัดเก็บภาษีขาเข้าขาออก แต่ขอให้อังกฤษค้ำประกันจำนวนเรือสินค้าที่จะเข้ามาค้าขาย แต่อังกฤษไม่ยอมรับรอง และปัญหาเรื่องเมืองไทรบุรี ซึ่งไทยถือว่าเป็นเรื่องกิจการภายในราชอาณาจักรจึงไม่ยอมนำหัวข้อนี้มาเจรจา

ถึงแม้การเจรจาครั้งนี้ไม่สำเร็จ แต่ก็มีเรือสินค้าอังกฤษเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยมากขึ้น ซึ่งไทยก็เปิดให้มีการค้าขายอย่างสะดวกตามระเบียบกฏเกณฑ์ที่ทางการไทยกำหนดไว้

ต่อมาในปี 2368 สมัยรัชกาลที่ 3 ลอร์ด แอมเฮิร์ส ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดียคนใหม่ ได้ส่งร้อยเอกเฮนรี่ เบอร์นี่ เดินทางเข้ามาเจรจากับราชสำนักไทย ใช้เวลาเจรจาถึง 5 เดือน ในที่สุดไทยกับอังกฤษก็สามารถทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ (เรียกสั้นๆ ว่าสนธิสัญญาเบอร์นี่) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2369 ขึ้นมาได้ ซึ่งมีสาระสำคัญบางประเด็น เช่น ไทยจะจัดเฏ็บภาษีในอัตราที่แน่นอนตามความกว้างของปากเรือ ห้ามอังกฤษนำฝิ่นเข้ามาค้าขาย การค้าข้าวจะซื้อขายกันได้แต่จากพระคลังสินค้าเท่านั้น คนในบังคับอังกฤษเมื่อเข้ามาในราชอาณาจักรต้องปฏิบัติตามกฏหมายไทย อังกฤษยอมรับอธิปไตยของไทยเหนือเมืองไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู

สัญญาเบอร์นี่ อังกฤษได้รับประโยชน์จากการค้า ส่วนไทยได้รับความเสมอภาคและการมีอำนาจเหนือหัวเมืองมลายูบางเมือง

อย่างไรก็ดี บรรดาพ่อค้าอังกฤษต่างก็ไม่พอใจสัญญาฉบับนี้ เพราะเห็นว่า เฮนรี เบอร์นี อ่อนข้อให้กับราชสำนักไทยมากเกินไป ดังนั้นในปี 2393 ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 3 อังกฤษจึงส่งเซอร์ เจมส์ บรูค เดินทางเข้ามาขอแก้ไขสัญญาเบอร์นี่กับไทย ซึ่งอังกฤษต้องการให้ไทยยกเลิกระบบการผูกขาดการค้าโดยพระคลังสินค้า ขอให้ไทยลดภาษีปากเรือจากวาละ 1,700 บาท เหลือ 500 บาท และห้ามเก็บค่าธรรมเนียมอื่นใดอีก ขอให้กงสุลอังกฤษเข้ามาร่วมพิพากษาคดีความที่เกิดกับคนในบังคับอังกฤษ รวมทั้งขอสิทธิพิเศษอีกหลายข้อ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์กับอังกฤษทั้งสิ้น ขณะที่ไทยเห็นว่าข้อตกลงในสัญญาเบอร์นี่ มีความเหมาะสม อังกฤษได้รับผลประโยชน์มากอยู่แล้ว ถ้าไทยยอมแก้ไขสัญญาให้สิทธิพิเศษแก่อังกฤษมากไป จะทำให้ชาติอื่นๆ ถือเป็นแบบอย่าง ทำตามอังกฤษบ้าง ดังนั้น การเจรจาจึงไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อเซอร์ เจมส์ บรูค กลับไปถึงสิงคโปร์ ได้เสนอให้รัฐบาลอังกฤษใช้กำลังทหารบีบบังคับไทยให้ยอมแก้ไขสัญญา แต่รัฐบาลอังกฤษไม่เห็นชอบ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับอังกฤษจึงเป็นไปตามสนธิสัญญาเบอร์นีที่จัดทำขึ้นในปี 2369

ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา
ไทยกับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ต่อกันทางด้านการค้า และวัฒนธรรม ฝ่านคณะมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์

ชาวอเมริกันเริ่มเข้ามาติดต่อกับไทยเป็นครั้งแรก ในปี 2361 ตรงกับรัชกาลที่ 2 เมื่อกัปตันเฮล นำปืนคาบศิลาจำนวน 500 กระบอก มาจำหน่ายให้ไทย ซึ่งกำลังต้องการอาวุธไว้ต่อสู้กับพม่า รัชกาลที่ 2 ทรงพอพระทัย จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงภักดีราชกปิตัน

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชาวอเมริกันได้เดินทางเข้ามายังราชอาณาจักรไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคณะมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมด้วย เพราะคณะมิชชั่นนารีช่วยนำวิทยาการสมัยใหม่มาเผยแพร่ให้คนไทย นอกเหนือไปจากการสอนศาสนา ตัวอย่างเช่น หมอบรัดเลย์เป็นผู้นำความรู้ด้านการพิมพ์มาเผยแพร่ ทำให้การจัดทำหนังสือ เอกสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการออกหนังสือพิมพ์ตามแบบตะวันตก อาทิ บางกอกรีคอร์เดอร์ บางกอกกาเลนเดอร์ รวมทั้งนำความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ มาเผยแพร่ให้กับคนไทย เป็นต้น

สำหรับสัมพันธไมตรีทางด้านการค้า สหรัฐอเมริกาได้ส่ง เอ็ดมัน โรเบิร์ตส์ เข้ามาถวายสาสน์ของประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจรจาทางการค้ากับไทย ซึ่งสามารถตกลงกันได้และลงนามในเดือนมีนาคม 2375 ซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกับสัญญาเบอร์นีที่ไทยเคยทำกับอังกฤษ เช่น พ่อค้าอเมริกันมีเสรีภาพในการซื้อขายสินค้าต่งๆ ยกเว้นสินค้าต้องห้าม, ไทยจะเรียกภาษีตามความกว้างของปากเรือ วาละ 1700 บาท สำหรับเรือที่บรรทุกสินค้าเข้ามาจำหน่ายและ 1500 บาท สำหรับเรือเปล่า แต่พ่อค้าอเมริกันห็นว่าสัญญาที่เอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ ได้ทำกับไทยยังไม่สะดวกต่อการค้าขาย เพราะสินค้าหลายอย่างถูกผูกขาดโดยกรมพระคลังสินค้า และไทยเรียกเก็บภาษีสูงเกินไป ดังนั้น ใน พ.ศ.2393 สหรัฐอเมริกาจึงส่งโจเซฟ บาเลสเตีย ซึ่งเป็นกงลุสประจำอยู่ที่สิงค์โปร์ เป็นฑูตเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับไทย โดยสหรัฐอเมริกาขอให้ไทยยกเลิกการจัดเก็บภาษีปากเรือ ให้เก็บโดยวิธีอื่น และขอตั้งสถานกงสุลหรือผู้แทนการค้าในกรุงเทพฯ

ผลการเจรจาครั้งนี้ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะไทยยอมรับเงื่อนไขได้เพียงบางข้อ และไม่เต็มใจที่จะแก้ไขสัญญาทั้งหมด เพราะจะทำให้ชาติอื่นขอทำตามอย่างบ้าง ขณะเดียวกันไทยก็วิตกต่อการแพร่ขยายอิทธิพลของชาติตะวันตก เกรงว่าการแก้ไขสัญญาจะทำให้ชาติตะวันตกเข้ามามีบทบาทในดินแดนไทยมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น